ทำเนียบฯ 3 ก.ค.-โฆษก ศบค. ห่วงโรคประจำฤดูกาลกับเด็กช่วงเปิดเทอม ขอผู้ปกครองฝึกเด็กสวมหน้ากากอนามัยป้องกันให้เคยชิน ยังตอบไม่ได้ว่าจะกลับมาเรียนตามปกติได้เมื่อไร
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. กล่าวถึง การเฝ้าระวังโรคในช่วงเปิดเทอม หลังเปิดเรียนตามปกติแล้ว ว่า ช่วงเปิดเทอมนี้ โดยเฉพาะวัยเด็กเล็กชั้นอนุบาล ที่น่ากังวลใจคือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยโรคที่รุนแรงถึงต้องปิดโรงเรียน ได้แก่ โรคมือเท้าปาก ที่จะมีตุ่มใสขึ้นที่ในปาก มือ และเท้า ทำให้เด็กร้องงอแง ไม่อยากกลืน มีความทรมาน จากการติดตามพบว่า ปี 2563 ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนถึงสัปดาห์ที่ 25 จำนวนผู้ป่วยเป็นเนินเขาเตี้ยๆ แสดงว่าเกิดการป่วยน้อยมาก คือ น้อยกว่า 500 ราย ขณะที่ ปี 2562 อัตราป่วยช่วงแรกเกือบ1,000 ราย และพุ่งทะยานขึ้นไปสูงสุดใช่วงกลางปีมากกว่า 4,000 การที่อัตราการเกิดโรคต่ำมากในปีนี้ อาจเกิดจากการเปิดเทอมช้า หรือยังไม่มีการแพร่ระบาด หรือมีการใส่หน้ากากตลอดเวลา เป็นเรื่องช่วยให้โรคนี้ลดน้อยลง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อปี 2562 ในช่วง มกราคม-มีนาคม อัตราป่วยสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ปี 2563 เดือนมกราคมยังป่วยสูง แต่พอเริ่มใส่หน้ากาก อัตราป่วยก็น้อยลง โดยตั้งแต่ มีนาคม- มิถุนายน ติดเชื้อน้อยมาก นี่คือประโยชน์ของการใส่หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่น่ากังวลใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 27 มิ.ย. กลุ่มก้อนใหญ่ คือ 0-4 ปี และ 5-14 ปี ที่ติดเชื้อสูง ขณะนี้ที่เพิ่งเปิดเทอม ต้องฝากพ่อแม่ดูแลบุตรหลาน หากไปโรงเรียนและไม่เคยชินการใส่หน้ากากก็ต้องฝึกสักระยะถึงเคยชิน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะที่ โรคปอดอักเสบที่รุนแรงขึ้นมาอีก ในปี 2562 การป่วยสูงตลอดทั้งปี ส่วนปี 2563 เมื่อรณรงค์หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย แนวโน้มก็ลดลง ถือเป็นอานิสงส์ของการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ทำโรคอื่นๆ ลดน้อยถอยลงไปด้วย นี่คือ สิ่งที่เราร่วมแรงร่วมใจกัน ทำให้ลูกหลาน ติดเชื้อน้อยลงด้วย ขอให้ทำไปเรื่อยๆ ในช่วงเปิดเทอม ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงอยู่
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึง การที่โรงเรียนขนาดใหญ่ต้องแบ่งนักเรียนมาโรงเรียน ทำให้ครูต้องสอน 2 รอบ ว่า ขอบคุณโรงเรียนและครูที่ต้องเหนื่อยในช่วงนี้ ถามว่าเมื่อไรจะกลับมาเรียนได้ปกติ ยังตอบไม่ได้ เพราะเพิ่งเริ่มต้นและต้องเฝ้าระวังก่อน ที่วางมาตรการไว้ ก็เป็นไปตามมาตรการสากล ที่คำนึงถึงการระบาดต่างๆ เป็นช่วงที่เด็กใกล้ชิดกัน ตามธรรมชาติเด็ก แต่เราจะเห็นนวัตกรรมใส่หมวกแบบมีปีกป้องกันใกล้ชิดกัน เด็กก็จะรับทราบเรื่องการปรับตัว
“กิจกรรมทางการเรียนการสอนแบบใหม่ ครูอาจจะเหนื่อยสักหน่อย แต่เชื่อว่า เทคโนโลยีการเรียนการสอนก้าวหน้าไปไกล เด็กหลายคนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ ใช้ทีวีดูจากจานดาวเทียน ใช้การฝึก หรือพ่อแม่ช่วยเป็นครูพี่เลี้ยงที่บ้าน นี่คือการเปลี่ยนปลงสู่ชีวิตวิถีใหม่ อาจจะขลุกขลักนิดหน่อยในช่วงเริ่มต้น ก็ต้องปรับกันไป ในเด็กโตก็ยิ่งง่าย ดูในโซเชียลมีเดีย ยูทูป มีการสอนมากมาย หลายคนพยากรณ์ถึงเวลาที่ไวรัสนี้จะมาเปลี่ยนโลก เปลี่ยนเรื่องการศึกษา วิถีการเรียนรู้แบบใหม่ ครู ผู้ปกครอง เด็ก จะได้ก้าวไปสู่ยุคชีวิตวิถีใหม่ และทำให้เด็กเราฉลาดขึ้นได้ทุกวิถีทาง ก็ต้องช่วยกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว .- สำนักข่าวไทย