กรุงเทพฯ 12 มิ.ย. – “อรรถพล” ซีอีโอ ปตท.พร้อมเป็นแขนขารัฐกระตุ้นเศรษฐกิจหลัง โควิด -19 พร้อมปรับโครงสร้าง กลุ่ม ปตท.ให้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์ ตั้งทีมมอนิเตอร์ผลกระทบทุกด้าน พร้อมเสริมสภาพคล่องด้วยการเตรียมกู้ 6.4 หมื่นล้านบาท
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว ตั้งแต่ วันที่ 15 มิ.ย.นี้ คาดว่า จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ การเดินทางของรถยนต์จะมีมากขึ้น ทำให้ ยอดขายน้ำมันหน้าปั๊มและธุรกิจที่ไม่ใช้น้ำมัน (non-oil ) ดีขึ้นกว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่หดตัวอย่างรุนแรง แต่ในส่วนของน้ำมันอากาศยาน คาดว่าจะยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะทั่วโลกยังหวั่นเกรงการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งการเดินทางระหว่างประเทศจะกลับมาได้ดีก็ต่อเมื่อโลกมีการค้นพบวัคซีนป้องกัน
นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท.พร้อมเป็นแขนขาของรัฐบาลในการร่วมเป็นหนึ่งในการแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดย พีทีทีสเตชัน พร้อมที่จะเป็นจุดจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรและชุมชน ตามนโยบายของรัฐ ในขณะเดียวกัน กรณีคู่ค้าของกลุ่ม ปตท.มีปัญหาสภาพคล่อง ปตท.ก็ได้ช่วยเป็นตัวกลางคุยกันสถาบันการเงิน เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจในการช่วยเหลือคู่ค้า
นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท.ได้ตั้งทีมติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งเหตุการณ์ในต่างประเทศและในประเทศ โดยมีการประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อให้มีการปรับตัวรับทุกสถานการณ์ แม้ว่าโลกอาจจะมีการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 แผนเหล่านี้ก็จะช่วยทำให้ ปตท.รับมือได้ โดยในส่วนของวงเงินเสริมสภาพคล่อง แม้ว่าจะมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมไว้ ด้วยการเตรียมแผนกู้เงินรวม 6.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ 4.4 หมื่นล้านบาทและออกตั๋วแลกเงิน (บี/อี ) 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะออกช่วงไหนอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการใช้เงินและสภาพตลาด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ต่ำก็เป็นโอกาสที่ดีในการกู้เงิน นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ก็ได้มีการลดเงินลงทุนทั้งกลุ่มราวร้อยละ 10-15 ในปี 63 โดยในส่วนเฉพาะ ปตท.แยกเป็นการลดค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 6.5 พันล้านบาท ลด งบลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท จากเดิม 6.9 หมื่น ล้านบาท
ส่วนกรณีที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น ปตท.ก็จะมีการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจให้แข่งขัน ทั้งห่วงโซ่อุปทาน สนองตอบลูกค้าครบวงจรและ จากที่ ปตท.ทำธุรกิจด้านนี้มานาน ก็เชื่อว่าจะแข่งขันได้ โดย ในปีนี้ จำมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) ในราคาสปอต หรือตลาดจร ราว 11 ลำ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชน โดย 2 ลำ ได้ในราคาต่ำกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
ซีอีโอ ปตท. ย้ำว่า ภารกิจ ปตท. ยังคงต้องรักษาความเข้มแข็งของธุรกิจหลักและสร้างธุรกิจใหม่แทนที่การเติบโตในรูปแบบเดิม โดยมุ่งหวังที่จะให้กลุ่ม ปตท. เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศ และเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน มุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ตามแนวคิดที่เรียกว่า PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation” ต่อยอดการดำเนินงานจากการสร้างความเข้มแข็งจากภายในผสานด้วยการเปิดกว้างทางความคิด รับบริบทจากภายนอก (inside-out & outside-in) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย โดยวางพื้นฐานหลักในการทำงานด้วยกลยุทธ์ PTT ร่วมกับแนวคิด PTT เช่นเดียวกันหรือที่เรียกว่า “PTT by PTT” ประกอบด้วย
P artnership and Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจของ ปตท. ให้มีลักษณะเป็นแพลทฟอร์มมากกว่าเป็นแค่ผู้ผลิตสินค้าและจำหน่าย โดย ปตท. จะดึงดูดพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ จากต่างประเทศ ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือกับทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน ผู้ประกอบการไทย และ SMEs ในการ ขับเคลื่อนคุณค่าจากมือพันธมิตรสู่มือผู้บริโภค เป็นการร่วมกันสร้าง New business model และ New ecosystem
T echnology for All เทคโนโลยีที่เกิดจากการผสมผสานด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และดิจิทัล โดยจะใช้ในทุกมิติของกระบวนการดำเนินงาน ทั้งการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ และใช้บริหารจัดการองค์กร รวมทั้งการขับเคลื่อนสู่ภายนอก เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม
T ransparency and Sustainability สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ เน้นให้พนักงานผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจเรื่องการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี การประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสม (Governance, Risk และ Compliance หรือ GRC) พร้อมกับพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม -สำนักข่าวไทย