กรุงเทพฯ 10 มิ.ย. – “คมนาคม” สั่ง รฟท.-ทล.-ทช. เร่งอนุญาตเอกชนใช้พื้นที่ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ด้าน “ชัยวัฒน์” เผย เตรียมถ่ายโอน “แอร์พอร์ต ลิงก์” ต.ค. 64 พร้อมระบุกรอบวงเงินรื้อย้ายสาธารณูปโภคปรับลดลงจากประมาณการณ์ไว้
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า การประชุมในวันนี้ (10 มิ.ย. 2563) ได้ติดตามความก้าวหน้า รวมถึงพิจารณาปัญหาอุปสรรคการในดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะทำงาน อาทิ งบประมาณ การเวนคืนที่ดิน การรื้อย้ายสาธารณูปโภค
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการในขณะนี้ ทั้งของคณะทำงาน และความคืบหน้าของ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัดนั้น ยืนยันว่าสามารถเดินหน้าตามแผน และเป็นไปตามกระบวนการ พร้อมทั้งกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ หากติดปัญหาอุปสรรคใดๆ ให้แจ้งและนำมารายงานให้คณะกรรมการรับทราบความคืบหน้าในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำชับเรื่องการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ทั้งของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยเร่งรัดการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอน ถูกต้องตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่แนะนำผู้ขออนุญาตใช้พื้นที่ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ ทล. ไปอัพเดตข้อมูลสะพานข้ามทางรถไฟว่ามีกี่แห่ง และอยู่บริเวณใดบ้าง เพื่อนำข้อมูลมาประสานกับ รฟท. ก่อนที่จะสรุปและให้บริษัทที่มาดำเนินการปรับแบบการก่อสร้างให้ข้ามสะพานดังกล่าวด้วย
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการส่งมอบพื้นที่นั้น ในขณะนี้ได้มีการทยอยส่งมอบในจุดที่ไม่มีปัญหาแล้ว เพื่อให้เอกชนสามารถเข้าไปดำเนินการได้ ขณะเดียวกัน ล่าสุดเอกชนยังได้เข้าไปสำรวจทรัพย์สินของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อเตรียมการก่อนที่จะมีการถ่ายโอนทรัพย์สินในช่วง ต.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้ย้ำกับบริษัทเอกชนว่า เมื่อได้ทรัพย์สินของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ไปแล้วนั้น จะต้องมีการปรับปรุง และพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย
สำหรับการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภค และกรอบงบประมาณรื้อย้ายสาธารณูปโภคเปิดพื้นที่ก่อสร้างนั้น ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบวงเงินรื้อย้ายสาธารณูปโภคเปิดพื้นที่ก่อสร้าง โดยขอรับจัดสรรงบกลางจำนวน 479 ล้านบาท ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณกลาง และประสานงานในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ โดยในเบื้องต้นรับทราบว่า กรอบวงเงินดังกล่าว จากที่ได้ประมาณการณ์นั้น มีการปรับลดลงด้วย
ในส่วนของการเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่นั้น ช่วงลาดกระบัง-อู่ตะเภา ภายในระยะ 1 ปี 3 เดือน และช่วงดอนเมือง-พญาไท 2 ปี 3 เดือน หลังลงนามสัญญา ในส่วนของแผนก่อสร้างสาธารณูปโภคทดแทน และการรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่พบเพิ่มเติมนั้นได้มีการเห็นชอบแผนดังกล่าวในกรอบวงเงินจัดสรรงบประมาณ 4,103 ล้านบาท และขอรับจัดสรรงบกลางให้กองทัพเรือกรอบวงเงินประมาณ 31 ล้านบาท เพื่อรื้อย้ายระบบไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสัมปทานกองทัพเรือ
ขณะเดียวกัน รฟท. ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินงานเวนคืนที่ดิน แบ่งเป็น พื้นที่เวนคืนจากเดิมที่มีประมาณ 857 ไร่ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเป็นประมาณ 885 ไร่, แปลงที่ดินจากเดิมประมาณ 924 แปลง ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเป็นประมาณ 931 แปลง, อาคารสิ่งปลูกสร้างจากเดิมประมาณ 334 หลัง ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเป็นประมาณ 360 หลัง และต้นไม้ประมาณ 517 แปลง
ขณะที่ การดำเนินการโยกย้ายผู้บุกรุกนั้น ในการสำรวจพบว่า มีทั้งสิ้นรวม 1,352 หลัง แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ จำนวน 782 หลัง กระทบโครงการ 197 หลัง และกลุ่มที่ 2 ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จำนวน 570 หลัง กระทบโครงการ 301 หลัง ส่วนการฟ้องร้องคดีผู้บุกรุกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ได้แก่ เขาพระบาท 25 หลัง ,บางละมุง 128 หลัง ,พัทยา-บ้านห้วยขวาง 57 หลัง และเขาชีจรรย์ 2 หลัง รวม 212 หลัง . – สำนักข่าวไทย