กรุงเทพฯ 3 มิ.ย.- ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ หลังกรรมการบริหารพรรคลาออกกว่าครึ่ง ทำให้ต้องเลือกหัวหน้าและเลขาธิการพรรคคนใหม่ ปมนี้มีนัยสำคัญอย่างไร ติดตามจากรายงาน
ชัดเจนว่าการลาออกของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 18 คน เป็นการเปิดเกมรุกกดดันกลุ่ม 4 กุมาร อย่างนายอุตตม สาวนายน, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ให้พ้นตำแหน่งหัวหน้า และเลขาธิการพรรค นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า ปัญหาภายในพลังประชารัฐจะมีขึ้นเป็นระยะ ด้วยโครงสร้างของพรรคที่มีหลายกลุ่มการเมืองมารวมกัน จึงเกิดการต่อรองผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มก๊วนการเมือง ดังนั้น การหย่าศึกรอบนี้จึงไม่แปลก ที่ พล.อ.ประวิตร ต้องลงมาด้วยตัวเอง แม้จะมีจุดอ่อนให้โจมตีได้
ขณะที่การปรับโครงสร้างใหญ่ของพลังประชารัฐครั้งนี้ แกนนำสำคัญของกลุ่มสามมิตรแจงว่า เป็นธรรมชาติของพรรคการเมือง ต้องปรับเพื่อความกระฉับกระเฉง สร้างพรรคให้มั่นคง ก้าวไปสู่พรรคการเมืองอันดับ 1 ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารเดิมจะไม่สามารถกลับมารับตำแหน่งได้อีก เพียงแต่วันนี้ พล.อ.ประวิตร เหมาะสม เพราะเป็นผู้ประสานนโยบายของพรรคไปสู่ผู้บริหารสูงสุดได้อย่างรวดเร็ว และถือเป็นช่วงที่เหมาะสมหากจะปรับ ครม.
ปมปัญหาในพรรคสะท้อนภาพความสัมพันธ์ว่ากลุ่มสามมิตรยังเหนี่ยวแน่นหรือไม่ เมื่อนายอุตตม และนายสนธิรัตน์ ที่มีตำแหน่งสำคัญในทีมเศรษฐกิจ ภายใต้แกนนำของนายสมคิด ถูกจับตาว่าจะหลุดเก้าอี้ หลังมีกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่หรือไม่
ปัญหารุงรังภายในพรรคพลังประชารัฐอาจสะเทือนถึงผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะส่งสัญญาณว่าเรื่องของพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่คงปฏิเสธได้ยากว่านี่คือการมัดมือชกให้ต้องปรับ ครม.-สำนักข่าวไทย