กรุงเทพฯ 29 พ.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุสามารถควบคุมกาฬโรคแอฟริกาในม้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดไม่พบม้าตายทุกจังหวัดที่เคยมีการระบาด เร่งฉีดวัคซีนที่นำเข้ามาเป็นรอบที่ 2 เสร็จในอีก 2 สัปดาห์ เร่งเก็บตัวอย่างเลือดม้าลายที่เอกชนนำเข้ามาเพื่อประกอบการสอบสวนโรคที่เข้ามาระบาดในไทยเป็นครั้งแรก
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การเข้าควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ของกรมปศุสัตว์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถจำกัดพื้นที่ระบาดได้แล้ว ข้อมูลล่าสุดวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ไม่พบม้าป่วยตายต่อเนื่องมา 4 วันแล้ว ทั้ง 12 จังหวัดที่เคยพบการเกิดโรค ได้แก่ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี เพชรบุรี ชัยภูมิ ราชบุรี สระแก้ว สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก และฉะเชิงเทรา มาตรการควบคุมโรคที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีนนำเข้าชุดแรก 4,000 โดส และชุดที่ 2 อีก 4,000 โดส ฉีดให้ม้าในรัศมี 50 กิโลเมตร รอบจุดเกิดโรค 12 จังหวัด พื้นที่ข้างเคียง 7 จังหวัด และพื้นที่เสี่ยงตามการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยารวมเป็น 19 จังหวัด ปัจจุบันฉีดไปแล้วทั้งสิ้น 4,796 ตัว จากเป้าหมาย 7,999 ตัว และจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในอีก 2 สัปดาห์
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้เร่งสอบสวนหาสาเหตุการเกิดโรค เนื่องจากการระบาดของโรค AHS เป็นโรคอุบัติใหม่ในไทย จึงต้องหาที่มาเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการควบคุมและกำจัดโรคให้หมดจากประเทศไทยโดยเร็ว ทั้งนี้ คณะทำงานสัตวแพทย์ปฏิบัติการภายใต้คณะคณะอนุกรรมการด้านการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค AHS ในม้าลาย ซึ่งมี รศ.นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าได้เก็บตัวอย่างเลือด ปรสิตภายนอก อุจจาระ/ปัสสาวะ รวมถึงอุปกรณ์ ตลอดจนการบันทึกอื่น ๆ หมายเลขประจำตัวสัตว์/ลายประจำตัวสัตว์ และประวัติการทำวัคซีน หรือถ่ายพยาธิต่าง ๆ ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง ได้แก่ สถานบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเฝ้าระวังโรค AHS ในม้าลายด้วย โดยคณะทำงานสัตวแพทย์ปฏิบัติการได้มีการดำเนินการที่โบนันซ่า เอ็กโซติก ซู อำเภอปากช่อง สวนสัตว์นครราชสีมา อำเภอเมือง โบนันซ่า จังหวัดนครราชสีมา และ บริษัท ซาฟารี ไวล์ดไลฟ์ ปาร์ค จำกัด อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี รวม 7 ตัว และมีแผนที่จะปฏิบัติงานเพิ่มอีก 4 แห่งได้แก่ บริษัท เรย์ลินกา จำกัด อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา หัวหิน ซาฟารี แอนด์ แอดเวนเจอร์ พาร์ค อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และสวนสัตว์สนามบินสุโขทัย อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการสอบสวนหาสาเหตุการระบาดของโรค AHS ในไทยด้วย รวมทั้งจะใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการควบคุม และกำจัดโรคให้หมดจากไทยโดยเร็วเพื่อขอคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงข้อสงสัยจากหลายภาคส่วนว่า เหตุใดกรมปศุสัตว์ไม่ตรวจโรคและกักกันโรคในม้าลายที่นำเข้ามาจากต่างประเทศก่อนหน้านี้ โดยระบุว่าเดิมนั้นม้าลายไม่เป็นสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 กรมปศุสัตว์จึงไม่มีอำนาจในการอนุญาตนำเข้า กักกันโรคและเก็บตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่หลังวันที่ 8 เมษายน 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามในประกาศให้ม้าลายเป็นสัตว์พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 กรมปศุสัตว์จึงมีอำนาจในการอนุญาตนำเข้า กักกันโรค และเก็บตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการนับแต่นั้นมา หากสัตว์มาจากประเทศต้นทางที่มีพื้นที่เสี่ยงของโรคระบาดจะต้องตรวจรับรองสุขภาพสัตว์ที่ประเทศต้นทาง เมื่อมาถึงไทยจะต้องตรวจสุขภาพแล้วนำไปกักไว้ที่สถานกักกันโรคซึ่งผู้นำเข้าแจ้งไว้ เมื่อครบกำหนดตรวจสุขภาพอีกครั้ง หากไม่พบโรคจึงเคลื่อนย้ายได้ หากพบโรคระบาดจะต้องทำลาย
สำหรับรายงานสถานการณ์การระบาดของโรค AHS เกิดขึ้นในผู้เลี้ยงม้า 118 ราย มีม้าร่วมฝูงทั้งหมด 2,260 ตัว พบม้าป่วยทั้งหมด 590 ตัว ม้าตายทั้งหมด 548 ตัว ม้าไม่ตายทั้งหมด 42 ตัว ม้าที่ป่วยตายส่วนใหญ่พบในอำเภอปากช่อง จังหวัดนคราชสีมารวม 435 ตัว คิดเป็น 79.4% จากสัตว์ที่ป่วยตายทั้งหมด
“กรมปศุสัตว์ร่วมกับทุกภาคส่วนเข้าไปควบคุมโรค ทำให้สถานการณ์การเกิดโรคอยู่ในวงจำกัด แต่เจ้าของม้าไม่ควรประมาทต้องดำเนินตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การป้องกันแมลง และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ซึ่งการทำมุ้งป้องกันแมลงต้องใช้มุ้งขาวตาถี่ 32 ตา อีกทั้งยังต้องมีการจัดการสุขาภิบาลในฟาร์ม เพื่อเป็นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงที่เป็นพาหะอีกด้วย ทำให้สามารถกำจัดโรค AHS หมดจากประเทศไทยได้โดยเร็ว” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย