BIG STORY : ย้อนปัจจัยสำคัญกระทบ “การบินไทย” จนวิกฤติ

กทม. 14 พ.ค. – กรณี “การบินไทย” ขาดทุนหนักเนื่องมาจากการดำเนินงานที่ขาดทุนในหลายปี ตั้งแต่พันล้านถึงหมื่นล้านบาท ประเด็นหลักที่ส่งผลมีทั้งมรสุมราคาน้ำมันในตลาดโลกและธุรกิจการบินที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง ทำให้แม้จะมีรายรับมหาศาลแต่รายจ่ายก็มหาศาลเช่นกัน


การบินไทยที่ก่อตั้งในปี 2503 หรือ 60 ปีที่ผ่านมา เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคมและเป็นสายการบินแห่งชาติของไทย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2534 แต่ยังความเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่


ในอดีตพบว่าหุ้นการบินไทยที่เปิดขายในราคาหุ้นละ 60 บาท นักลงทุนต้องแย่งกันซื้อโดยวิธีจับสลาก และการบินไทยในปี 2542 การบินในยุคที่มีนายธรรมนูญ หวั่งหลี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มีรายได้ 112,020 ล้านบาท มีผลประกอบการดีที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ


หลังจากนั้นการบินไทยมีผลประกอบการสร้างกำไรต่อเนื่อง ก่อนพบกับมรสุมราคาน้ำมันในตลาดโลกในปี 2550 และการจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง การแข่งขันในธุรกิจการบินที่รุนแรง ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2556 เริ่มขาดทุน 12,000 ล้านบาท และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2562 ที่ขาดทุนหลักหมื่นล้านบาทเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่ในยุคหลังถูกระบุว่าเป็นสาเหตุที่การบินไทยขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มเข้ามาให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์แอร์ไลน์ ในปี 2546 ทำให้มีผู้ให้บริการมากขึ้นและเติบโตมาต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเมินว่าสายการบินต้นทุนต่ำในปี 2562 มีผู้ใช้บริการ 50-60 ล้านคน มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% รวมถึงนโยบายการเปิดน่านฟ่าเสรี ในปี 2558 ยิ่งทำให้สมรภูมิธุรกิจการบินหนักหน่วงมากขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า นอกเหนือจากโลว์คอสต์แอร์ไลน์ เข้ามาทำตลาดการบินให้กับคนทั่วไปนับล้านคนแล้ว ยังมีกรณีที่การบินไทยยึดติดกับตลาดเดิมในยุโรป รวมถึงการปรับตัวและวิเคราะห์ตลาด และการเป็นรัฐวิสาหกิจที่บริหารงานแตกต่างจากสายการบินเอกชนที่เน้นผลกำไร-ขาดทุนเป็นหลัก รวมถึงการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 ที่ไม่เหมาะสมกับภาวะราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง

อีกแนวทางที่ประเมินว่าเป็นความผิดพลาด คือ การเปิดเส้นทางการบินที่ทำให้ขาดทุนหนัก ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ที่ไม่ประสบความสำเร็จ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำมาสู่การขาดทุน  

ข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2562 พบว่าการบินไทย และไทยสมายล์ มีเครื่องบินใช้ปฏิบัติการทั้งหมด 103 ลำ โดย 48 ลำ เป็นเครื่องบินพิสัยไกลบินข้ามทวีป พิสัยกลางในเส้นทางภูมิภาค 35 ลำ และ เครื่องบินลำตัวแคบที่ใช้บินเส้นทางระยะใกล้ 20 ลำ

ตรวจสอบข้อมูลจากรายงานประจำปี 2562 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พบว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทมีเครือข่ายเส้นทางการบินให้บริการครอบคลุม 62 จุดบิน ใน 31 ประเทศทั่วโลก  เมื่อสิ้นปี 2562 มีสินทรัพย์รวม 256,665 ล้านบาท หนี้สินรวม 244,899.44 ล้านบาท  รายได้รวม 188,954.45 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12,042.41 ล้านบาท และมีเงินสด 21,663 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ผลประกอบการปี 2563 ประเมินว่าช่วง 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 ประสบปัญหาขาดทุน 18,038 ล้านบาท และเริ่มมีกระแสเงินสดติดลบตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

เจาะรายได้ย้อนหลัง 3 ปีของงบการเงินรวมทั้งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย พบว่า

ปี 2560 มีรายได้รวม 190,535 ล้านบาท แต่มีรายจ่าย 193,430 ล้านบาท 

ปี 2561 มีรายได้รวม 200,586 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายรวม 212,192 ล้านบาท 

และในปี 2562 มีรายได้รวม 188,954 ล้านบาท แต่มีรายจ่าย 199,989 ล้านบาท

รายได้หลักยังมาจากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน รวมถึงค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้พยายามปรับตัวเพื่อให้รักษาธุรกิจให้อยู่รอด หลังจากงบประมาณขาดทุนหนักหน่วงมาหลายปี จากข้อมูลในรายงานประจำปี 2562 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานเรื่อง “ปัจจัยความเสี่ยง” ที่เป็นผลกระทบต่อธุรกิจเพื่อนำไปวางแผนแก้ไขปัญหา แบ่งเป็น 10 ด้าน อาทิ ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันอากาศยาน ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ความเสี่ยงจากการแข่งขันในธุรกิจการบิน เป็นต้น

ปัจจุบันการบินไทยได้ให้บริการการบินไปยังท่าอากาศยานทั้งหมด 64 แห่ง ใน 35 ประเทศ (รวมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและประเทศไทย) ครอบคลุมทั้งหมด 3 ทวีป ล่าสุดคือ การให้บริการที่ท่าอากาศยานนานาชาติเวียนนา กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งถือว่าเป็นท่าอากาศยานที่ 64 ที่การบินไทยทำการบินประจำ

หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2534 ในยุคของนายธรรมนูญ หวั่งหลี ปัจจุบันมีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี มาแล้ว 7 คน 

ในรอบ 10 ปีล่าสุด มีเพียงยุคของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดีดีการบินไทยในช่วงปีวันที่ 18 มิถุนายน 2552-20 มิถุนายน 2555 และนายจรัมพร โชติกเสถียร (1 ธันวาคม 2557-9 กุมภาพันธ์ 2560) ที่การบินไทยมีผลประกอบการได้กำไร

ส่วนในยุคอื่น ๆ ผลประกอบการของการบินไทยประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง โดยมีรายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าการบินไทยมีแผนที่จะเริ่มกลับมาทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 เป็นต้นไป โดยจะเปิดทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศรวม 37 เมือง ซึ่งเป็นการปรับลดเส้นทางลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบริษัท ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ปัจจุบันการบินไทยได้เปิดให้บริการระบบการสำรองที่นั่งในเดือนกรกฎาคมแล้ว โดยเปิดให้สำรองเพียง 30% ของเที่ยวบินที่มีเท่านั้น. – สำนักข่าวไทย 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ชนรถบรรทุก

แพทย์หญิงดับสลด ขับชนท้ายรถบรรทุก

แพทย์หญิง ขับรถพุ่งชนท้ายรถบรรทุก 6 ล้อ เสียชีวิตคาที่ บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี มุ่งหน้าสะพานตากสิน ถนนกรุงธนบุรี ตรวจสอบในรถพบซองยาแก้หวัด-คัดจมูก

แสตมป์ถูกข่มขู่

โฆษก ทบ. พร้อมให้ความเป็นธรรม​​ “แสตมป์​-​ภรรยา​”

โฆษกกองทัพบก พร้อมให้ความเป็นธรรม​​ “แสตมป์​-​ภรรยา​” ถูกนายพลข่มขู่​ ขอข้อมูลเพิ่มตรวจสอบอยู่ในประจำการหรือไม่​ ลั่น​ หากยังรับราชการถือผู้วินัยร้ายแรง​แม้เป็นเรื่องส่วนตัว​

ข่าวแนะนำ

ชมความงามอุโมงค์ดอกนางพญาเสือโคร่งขุนวาง

ตามยอดดอยหลายแห่งทางภาคเหนือ เริ่มกลายเป็นดอยสีชมพูจากดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย รวมทั้งอุโมงค์นางพญาเสือโคร่ง ในศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ขุนวาง จ.เชียงใหม่

ผงะ! ช่างรับเหมารีโนเวทบ้านพบระเบิดลูกเกลี้ยง 3 ลูก ซุกบ้านร้าง

ช่างรับเหมารีโนเวทบ้านร้าง ผงะ! พบระเบิดลูกเกลี้ยง 3 ลูก ซุกซ่อนในบ้าน แจ้งสายตรวจ สน.ลาดพร้าว ประสานอีโอดีเก็บกู้ด่วน พบสภาพพร้อมใช้งาน 1 ลูก

“ติ๊ก ชีโร่” กราบศพ “น้องจูเนียร์” พ่อเผยพร้อมเจรจาเรื่องเยียวยา

“ติ๊ก ชีโร่” เดินทางเข้ากราบศพ “น้องจูเนียร์” ที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน ท่ามกลางบรรยากาศโศกเศร้า พ่อเผยพร้อมเจรจาเรื่องเยียวยา ส่วนคดีปล่อยไปตามขั้นตอนกฎหมาย

ดารา-นายแบบจีนขอบคุณ ตร.ไทย ช่วยกลับประเทศปลอดภัย

ดาราและนายแบบจีนขอบคุณตำรวจไทยช่วยเหลือกลับประเทศโดยปลอดภัย ด้านจเรตำรวจแห่งชาติ เตรียมดำเนินการตามกฎหมายกับสื่อต่างประเทศนำเสนอ Fake News