ก.คลัง 8 พ.ค. – “สมคิด” ประชุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ธ.ก.ส.เสนอขอวงเงิน 55,000 ล้านบาท ตั้งกองทุนดูแลเกษตรกร พร้อมปล่อยสินเชื่อ 4.8 แสนล้านบาท ปูพรมช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศ เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า คาดขับเคลื่อนชุมชนต้นเดือน มิ.ย.63
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประชุมแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากร่วมกับผู้บริหารส่วนราชการ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐและเอกชน สภาเกษตรกรแห่งชาติ หลังเศรษฐกิจโลกทรุดตัวการท่องเที่ยวมีปัญหาในช่วงโควิด -19 รัฐบาลจึงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นในช่วง 1 ปีข้างหน้า และดึงภาคเอกชนรายใหญ่เข้ามาร่วมดูแลชุมชน เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า เพื่อเริ่มเดินหน้าโครงการ เพื่อสร้างงาน การผลิต การตลาด การจ้างงาน ต้นเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากปัญหาการแพร่ระบาดคลี่คลายลง ในช่วง 3-6 เดือนต้องหันมาเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้วงเงิน 400,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้นำมาพัฒนาชุมชน เพื่อให้ส่วนราชการเสนอโครงการดูแลชุมชน
สำหรับแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ต้องเน้นเชิงปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ขอให้เตรียมการควบคู่ไปรอการเสนอคณะกรรมการกลั่นกรอง เพราะเป็นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ขอคิดดอกเบี้ยต่ำ จากนั้นเสนอของบประมาณช่วยเหลือ เพื่อลดภาระให้คนฟื้นจากปัญหาโควิด-19 ต้องเดินหน้าไปก่อน โดยผู้จัดการ ธ.ก.ส.ทุกพื้นที่ต้องเป็นผู้จัดการโครงการดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องเน้นการอบรม เพราะจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชุมชน โดยมีเบี้ยเลี้ยงอบรมและดึงมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานอื่นมาช่วยอบรม ทั้งนักศึกษาจบใหม่ คนอยากทำเกษตรสมัยใหม่ หากมีศักยภาพและโอกาสต้องส่งเสริม ขณะที่กรมส่งเสริมอุตสหากรรม ต้องส่งเสริมการแปรรูปจากสินค้าเกษตร ในการสร้างความเข้มแข็งธุรกิจชุมชน คนรุ่นใหม่ไฟแรงพร้อมอยากทำ หรือส่งเสริมการปลูกป่า ทำสมาชิกกองทุนหมู่บ้านปลูกป่า กำหนดแผนให้ชัดเจน ในช่วง 3-4 เดือน จะเกิดการจ้างงานอีกจำนวนมาก หวังดึงแรงงานช่วงนี้ทำงานในชุมชนกว่า 300,000 ราย รองรับปัญหาโควิด-19 ดึงสมาร์ทฟาร์มเมอร์นับหมื่นแห่งมาช่วยส่งเสริม
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาเสริมสร้างชุมชนให้มีความเข็มแข็งต้องมีระบบพี่เลี้ยงคอยดูแล ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมส่งเสริมเครื่องมือ เครื่องจักรช่วยเหลือเกษตรกร สำหรับสินเชื่อ ธ.ก.ส.วงเงินสูง 480,000 ล้านบาท ต้องพิจารณาการชดเชยภาระดอกเบี้ยในกรอบเหมาะสม เพื่อดูแลรายย่อยให้มีทุนหมุนเวียน
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ชี้แจงที่ประชุมว่า “นโยบายธุรกิจชุมชนสร้างไทย” คาดผู้ตกงานจากปัญหาโควิด-19 จำนวน 7 ล้านคน ขณะนี้มีผู้ยื่นขอกู้ฉุกเฉินจาก ธ.ก.ส. ประมาณ 1.87 ล้านราย สำหรับผู้เดินทางกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัดช่วงนี้ส่วนใหญ่ทำร้านอาหาร 850,000 ราย นวดแผนโบราณ 100,000 ราย เมื่อสอบถามคนรุ่นใหม่อยากทำเกษตรอุตสาหกรรม เกษตรเทคโนโลยี ประมาณครึ่งหนึ่งอยากอยู่กับบ้านไม่กลับเข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ อยากทำงานอยู่กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด ธ.ก.ส.จึงต้องทำให้เกิดการจ้างงานเริ่มโครงการ 1 พฤษภาคม 2563 – 31 มีนาคม 2565 จำนวน 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ วงเงิน 55,000 ล้านบาท ตั้งเป็นกองทุนดูแลเศรษฐกิจฐานรากใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแกนหลักยึดการทำงาน บวกกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงาน
นายอภิรมย์ กล่าวว่า ธ.ก.ส.เสนอ 3 โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 1. โครงการสร้างความมั่นคงด้านอาหารระดับชุมชน ของบประมาณสนับสนุน 720 ล้านบาท เพื่อให้พึ่งพาตนเอง 300,000 ราย ส่งเสริมผ่านสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ 200,000 ราย วงเงิน 10,000 ล้านบาท หวังลดค่าใช้จ่ายเกษตรกรไม่น้อยกว่า 1,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 18 เดือน เป็นเงิน 5,400 ล้านบาท และสินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 ช่วง 3 ปีแรก ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน เพื่อดึงคนรุ่นใหม่ทำอาชีพ สร้างรายได้ให้คนรุ่นใหม่กว่า 700,000 ราย เป็นเงิน 110,000 ล้านบาท 2.โครงการเสริมสร้างความเข้มแขงด้านธุรกิจชุมชน เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่ง ลงทุนปัจจัยพื้นฐาน เพื่อให้พึ่งพาซึ่งกันและกันด้วยการรวมกลุ่มของวิสหากิจชุมชน เสนอของบประมาณสนับสนุน 32,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่เกินร้อยละ 50 ไม่เกิน วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย วงเงิน 16,000 ล้านบาท ส่วนอีกส่วนหนึ่งสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิต เพื่อช่วยเหลือทั้งระบบน้ำ การสร้างโรงเรือน เครื่องจักรกล จากนั้น ธ.ก.ส.พร้อมปล่อยสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วเงิน 30,000 ล้านบาท
3.โครงการสร้างความยั่งยืนเศรษฐกิจฐานราก สนับสนุนสถาบันเกษตรกร 7,255 แห่ง ลงทุนปัจจัยพื้นฐาน เช่น ระบบน้ำ เครื่องจักรกล โรงเรือน ของบประมาณสนับสนุน 21,765 ล้านบาท เพื่อให้รัฐช่วยลงทุนครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกส่วนหนึ่งให้ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนธุรกิจชุมชนสร้างไทย 20,000 ล้านบาท นับว่า 2โคงรการหลักนี้ใช้เงินจากกองทุนช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อประกอบการเกษตร 40,000 ล้านบาท เพื่อให้มีทุนหมุนเวียน รวมทั้งหมด ธ.ก.ส.พร้อมปล่อยสินเชื่อวเงิน 480,000 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 ล้านบาท สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ 10,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen ฮักบ้านเกิด 60,00 ล้านบาท สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 50,000 ล้านบาท สินเชื่อผู้ประกอบการเกษตร 40,000 ล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นสำหรับฤดูกาลใหม่ 300,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. พร้อมร่วมมือกับหลายหน่วยงาน กระทรวงอุตสหากรรม กระทรวงเกษตร ทั้งมูลนิธิสัมมาชีพ บมจ.ปตท. เพื่อช่วยเหลือทุกด้าน พร้อมจัดทำบัตรเกษตรกรให้ครบ 10 ล้านคน เหมือนกับบัตรเครดิตเกษตรกร เพื่อให้มีเงินทุนหมูนเวียนในการประกอบอาชีพ
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงว่า การทำเกษตรยุคใหม่ต้องผสานกับภาคอุตสาหกรรมเป็นเกษตรอุตสาหกรรม เมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญกับท้องถิ่นต้องหาตลาดให้ชัดเจน ภาคเกษตรในชนบทมีความหลากหลายมิติ ทั้งสังคม วัฒนธรรม เป็นโมเดลแต่ละท้องถิ่น แต่เชื่อมโยงกับตลาดให้เกิดมูลค่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอโครงการพัฒนาชุมชน พร้อมสานต่อเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อทำเชิงธุรกิจ การพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อเป็นแหล่งพัฒนาข้าว จึงพร้อมร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า หลังจากปัญหาโควิด-19 เตรียมจัดทำเว็บออนไลน์ เพื่อสร้างตลาดเชื่อมกับชุมชนหวังสร้างให้เป็นตลาดรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อเป็นแหล่งกระจายสินค้าอีกช่องทาง ปั๊ม ปตท.
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การทำตลาดมีความสำคัญมาก หากผลิตสินค้าออกมาจำนวนมากอาจมีปัญหาสินค้าล้นตลาด จึงต้องดูแลด้านตลาด เพื่อรองรับสินค้าคุณภาพของชุมชน การทำตลาดจึงสำคัญมาก และยังทำให้สมาร์ทฟาร์เมอร์ เกษตรรุ่นใหม่มีช่องทางจำหน่าย ทำให้ผลิตสินค้าได้อีกนาน.-สำนักข่าวไทย