ทำเนียบรัฐบาล 7 พ.ค.-โฆษกศบค.เผย ผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม นายกฯย้ำเข้มงวดทุกมาตรการต่าง เน้น ทำงานที่บ้าน-เหลื่อมเวลา ลดเคลื่อนย้ายคน เตรียมพิจารณาผ่อนปรนระยะสอง 17 พ.ค.
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้ (7 พ.ค.)ไทยมีรายงานผู้ป่วยใหม่ 3 ราย รวมผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 2,992 ราย รักษาหาย 2,772 ราย รักษาอยู่ 165 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตคงเดิมรวม 55 ราย ทั้งนี้ จากจำนวนตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 3 ราย รายแรกเป็นหญิงไทยอายุ 59 ปี เป็นแม่บ้าน ภูมิลำเนาจังหวัดยะลา มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันจากประเทศมาเลเซีย ส่วนอีกสองคนเป็นชายอายุ 46 ปีและ 51 ปี อาชีพรับจ้าง เป็นผู้ป่วยเดินทางมาจากประเทศคาซัคสถาน และเข้ากักกันตัวในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้
โฆษกศบค. กล่าวว่า สถานการณ์โลก พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 3,822,860 ราย เสียชีวิต 265,076 ราย สหรัฐอเมริกาติดเชื้อมากที่สุด 1,263,092 ราย เสียชีวิต 69,921 ราย ส่วนในกลุ่มอาเซียนและเอเชีย อินเดียมีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด 52,987 รองลงมาคือปากีสถานและสิงคโปร์ ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับที่ 64 ของโลก
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะ ผอ.ศบค.มอบแนวทางการทำงาน โดยขอให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญการดูแลระยะเปลี่ยนผ่านของมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด และขอบคุณทุกกำลังใจ ทุกคนที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งสถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ แต่ยังต้องดำเนินการเชิงรุกตามแนวทางดูแลทุกอย่างอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการเข้าออกต่างประเทศผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยต้องไม่ให้นำเชื้อเข้ามาภายในประเทศ และต้องกักกันตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ ต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานด้านความมั่นคงดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนด ให้หน่วยงานต่าง ๆรายงานผลกระทบการผ่อนคลายมาตรการและแนวทางการแก้ไข โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และรับฟังข้อเสนอของผู้ประกอบการวย ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานอย่างหนักต้องให้ได้รับเบี้ยเลี้ยงตามสิทธิ์” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
“พล.อ.ประยุทธ์แนะให้มีมาตรการและแนวทางเฉพาะของกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเดินทางโดยรถไฟฟ้า ต้องมีมาตรการต่าง ๆ ดูแล การเหลื่อมเวลาการทำงาน ที่อาจจะต้องเหลื่อมหลายช่วงเวลา โดยให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายดูแลเรื่องนี้ เพราะเมื่อออกมาทำงาน จะทำให้คนแออัดกันในขนส่งมวลชน และมาตรการคือ Work from home การทำงานที่บ้าน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่ให้ทำงานที่บ้านให้มากที่สุดหรือร้อยละ 50 ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดการเคลื่อนย้ายของคนได้ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจรายงานการทำงานที่บ้านและการเหลื่อมเวลาการทำงานว่าเป็นอย่างไรบ้าง” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในส่วนของสถานศึกษาเตรียมขยายเวลาการเปิดเรียน รวมถึงปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งเรียนผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมและระบบออนไลน์ ส่วนการออกกำลังกายในสวนสาธารณะต้องระวังไม่ให้มีการแพร่กระจายโรค ซึ่งการออกกำลังด้วยการเดินถือเป็นวิธีที่ดี แต่การวิ่งออกกำลังต้องระมัดระวัง เพราะมีบางคนใส่หน้ากากผิดแบบ ทำให้หายใจไม่สะดวก
“มีรายงานในที่ประชุมศบค.เรื่องการปิดสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งหากเป็นผู้สูงอายุที่ต้องพักค้างสามารถทำได้ แต่หากเป็นประเภทที่ต้องไปกลับจะไม่อนุญาต เพราะอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของร้านขายวัสดุก่อสร้าง ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ สินเชื่อ ประกันภัยในห้าง ที่ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบประเด็นเหล่านี้ แต่ต้องหารือเพื่อออกเป็นข้อกำหนดและพิจารณาข้อกฎหมายอีกครั้ง” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ก่อนการผ่อนปรนมาตรการในระยะที่สอง มีไทม์ไลน์ที่ต้องดำเนินการ คือวันที่ 8-12 พฤษภาคมเป็นช่วงของการรับฟังความคิดเห็นทั้งเชิงสถิติและสถานการณ์ วันที่ 13 พฤษภาคมจะซักซ้อมทำความเข้าใจ วันที่ 14 พฤษภาคมจะยกร่างการผ่อนปรนระยะที่สองและนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี หากไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม จะเริ่มมาตรการผ่อนปรนระยะที่สองได้ ซึ่งจะเป็นการผ่อนปรนในกิจการขนาดใหญ่และมีประชาชนเข้าไปจำนวนมาก ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับทุกคนที่จะต้องช่วยกัน
โฆษกศบค. กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าจะต้องพัฒนาการตรวจประชากรกรที่มีกลุ่มเสี่ยงและในสถานที่เสี่ยงให้ได้มากที่สุด โดยเป้าหมายคือต้องตรวจให้ได้ 6,000 รายต่อหนึ่งล้านประชากร คือประมาณ 400,000 ราย ซึ่งขณะนี้ตรวจไปแล้ว 230,000 ราย นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยรายงานว่าได้ปิดสถานที่ตามมาตรการของสถานการณ์ฉุกเฉินไปกว่า 46,000 แห่ง และเปิดสถานที่ตามมาตรการผ่อนปรนกว่า 140,000 แห่ง ส่วนกรุงเทพมหานครจัดชุดตรวจ กิจการและกิจกรรมต่าง ๆ พบว่ากว่า 3,000 แห่งที่มีความผิดและตักเตือนแล้ง
“ขณะที่การพิจารณาเกณฑ์การรับคนไทยกลับประเทศ แบ่งเป็นด่วนที่สุดที่จะได้กลับก่อนได้แก่ ผู้ป่วย ผู้ตกค้างจากสนามบิน ผู้ที่วีซ่าหมดอายุและนักท่องเที่ยวที่ตกค้าง อีกกลุ่มคือด่วนมากได้แก่ พระสงฆ์ที่ไปปฏิบัติธรรม นักเรียน นักศึกษาและคนตกงาน โดยวันนี้ที่ประชุมศบค.หารือเตรียมรับนักเรียนไทยกลับจากประเทศอาร์เจนตินา 52 คน และอุรุกวัย 2 คน โดยจะเดินทางมาถึงวันที่ 20 พฤษภาคม” นพ.ทวีศิปล์ กล่าว
โฆษกศบค. กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า การแพร่ระบาดของโรคในต่างประเทศยังมีอยู่ต่อเนื่อง พบว่าผู้ติดเชื้อในไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และการระบาด ของเชื้อมาจากทั้งการเคลื่อนย้ายประชากร เช่น จากกรุงเทพมหานครปยังต่างจังหวัด และการรวมกลุ่มมั่วสุม เช่น การดื่มสุรา ดังนั้น ยังต้องคงมาตรการในประเทศอย่างเข้มข้น และตรึงการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศให้ได้ เพื่อให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเลขหลักเดียวหรือดีขึ้นกว่านี้
“สถานการณ์การติดเชื้อของประเทศต่าง ๆ ดีขึ้น เช่น จีนและเกาหลีใต้ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอว่า น่าจะปรับเรื่องการประกาศรายชื่อและถอนประเทศบางประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตรายออกไป เพื่อให้มีเรื่องของการทำงานหรือมีความสัมพันธ์ในเชิงด้านเศรษฐกิจสังคมต่างๆ ที่ดีกันไปด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมเห็นชอบ แต่ต้องนำไปสู่การดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเข้าประเทศได้ทันที ยังต้องมีมาตรการต่าง ๆ ที่จะจัดการ ซึ่งที่ประชุมต้องพูดคุยกันต่อ” นพ.ทวีศิปล์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย