ทำเนียบรัฐบาล 13 เม.ย.-โฆษกศบค. เผยตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 28 ราย เสียชีวิต2 ราย รวม 40 ราย มั่นใจเตียงรองรับพอ หลังคนป่วยกลับบ้าน ป่วยใหม่น้อยลง ส่วนการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับตัวเลขสถิติที่ต้องลดลง
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้(13 เม.ย.) มีรายงานผู้ป่วยใหม่ 28 ราย รวมผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 2,579 ราย รักษาหาย 1,288 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวม 40 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็นชายไทยอายุ 56 ปีมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดสมุทรปราการด้วยอาการไข้ 38 องศาเซลเซียส ไอ หอบ เหนื่อย แพทย์ส่งตรวจทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 พบว่าผลตรวจไข้หวัดใหญ่เป็นลบและยืนยันพบเชื้อโควิด-19 จากนั้นมีอาการเหนื่อยมากขึ้นและใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา
โฆษกศบค. กล่าวว่า อีกรายเป็นชายไทยอายุ 43 ปี อาชีพพนักงานบริษัทมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ไตวายเรื้อรังไขมันในเลือดสูง เริ่มป่วย 23 มีนาคมด้วยอาการไข้ 39.4 องศาเซลเซียส ไอ เหนื่อย มีน้ำมูกและถ่ายเหลว เข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานครและกลับบ้าน จากนั้นวันที่ 5 เมษายน อาการไม่ดีขึ้น เข้ารักษาที่โรงพยาบาลแห่งเดิม วินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดติดเชื้อและส่งตรวจยืนยันพบเป็นโควิด-19 จากนั้นมีอาการแย่ลง หอบเหนื่อยมากขึ้น ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดลดลง หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตวันที่ 11 เมษายน
“จากจำนวนตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 28 ราย พบว่าอยู่ที่กรุงเทพมหานคร 12 ราย ภูเก็ต 6 ราย ชลบุรี ยะลา สตูล จังหวัดละ 2 ราย และชุมพร นครพนม นนทบุรี เลย จังหวัดละ 1 ราย โดยพบว่าปัจจัยเสี่ยงมาจากการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 18 ราย คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย ไปสถานที่ชุมนุมชน 1 ราย อาชีพเสี่ยง 2 ราย และ บุคลากรทางการแพทย์ 3 ราย มีผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากอินโดนีเซียและเข้ารับการกักกันตัว 3 ราย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษกศบค. กล่าวว่า ยอดผู้ป่วยสะสมจำนวน 2,579 ราย จาก 68 จังหวัด แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร 1,306 รายภูเก็ต 182 ราย นนทบุรี 150 ราย สมุทรปราการ 105 ราย และยะลา 84 ราย ขณะที่จากการจำแนกอัตราป่วยต่อประชากรหนึ่งแสนคน พบว่าจังหวัดภูเก็ต มีผู้ป่วยมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44.03 รองลงมาคือกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 23.03 และยะลา ร้อยละ15.72 ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่ตั้งแต่วันที่ 8-9 เมษายนและ 11-13 เมษายนพบว่าเป็นกลุ่มที่เดินทางกลับมาจากอินโดนีเซียรวม 61 รายและจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 1 ราย ซึ่งการจำแนกปัจจัยเสี่ยง 5 อันดับของผู้ป่วยยืนยัน 2 สัปดาห์ล่าสุด พบว่ามาจากการสัมผัสกับผู้ป่วย ยืนยันก่อนหน้านี้จำนวน 441 ราย คนไทยกลับจากต่างประเทศ 145 ราย อาชีพเสี่ยง 104 รายบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข 55 ราย และสถานบันเทิง 39 ราย
“สำหรับจังหวัดภูเก็ต ที่พบยอดผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง พบว่าเป็นผู้ป่วยจากสถานบันเทิง 71 รายสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 33 รายอาทิตย์เสียง 33 รายคนต่างชาติเดินทางจากต่างประเทศ 10 รายและคนไทยมาจากต่างประเทศ 4 ราย โดยพบว่าผู้ป่วยมาตรวจหลังมีอาการภายในวันเดียว คิดเป็นร้อยละ 22.69 มาตรวจภายใน 3 วัน ร้อยละ 22.69 มาตรวจภายใน 7 วัน ร้อยละ 26.89 และมาตรวจหลังจาก 7 วันร้อยละ 27.73” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษกศบค. กล่าวว่ามาตรการของจังหวัดภูเก็ตเริ่มตั้งแต่ปิดสถานบันเทิง ปิดซอยบางลา นวดแผนไทย สนามกีฬา โรงแรมและปิดพื้นที่ป่าตอง จึงจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ ซึ่งบทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานเพื่อควบคุมป้องกันโรคที่จังหวัดภูเก็ต พบว่ากลุ่มผู้สัมภาษณ์ที่มีความเสี่ยงสูงต้องกักกัน 100% ด้วยการกักกันในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ให้เพราะหากกักตัวเองที่บ้าน ยังพบว่ามีผู้ป่วยต่อเนื่อง ส่วนการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกทำในกรณีการระบาดในวงกว้างเฉพาะกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น เพราะอาจมีปัญหาในการติดตามตรวจสอบได้ไม่ทั้งหมด และการคัดกรองในวงกว้าง ยังไม่เกิดความคุ้มค่า ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนการประกาศเคอร์ฟิว มีประชาชนออกนอกเคหสถาน 820 ราย รวมกลุ่มชุมนุมและมั่วสุมจำนวน 135 ราย
“กระทรวงสาธารณสุขมั่นใจจำนวนเตียง รองรับผู้ป่วยทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเพียงพอ โดยในช่วงนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายแล้วได้กลับบ้านไป และผู้ป่วยใหม่น้อยลง ทำให้จำนวนเตียงนั้นว่างมากขึ้น ยืนยันว่าแม้สถานการณ์รุนแรงมากกว่านี้ อย่างที่มีการประเมินว่าอาจมีผู้ป่วยจำนวนหลายแสนคน ก็ยังมั่นใจว่าจะสามารถรองรับได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษกศบค.กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ความสำคัญกับการหามาตรการเยียวยากับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและพบว่าปัญหาต่าง ๆ มีมากและต้องเร่งแก้ไข โดยจะตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมขึ้นมาดูแล ขณะที่มาตรการต่าง ๆ จะผ่อนคลายได้ เช่นการเรียกร้องให้เปิดร้านตัดผม ต้องพิจารณาจากจำนวนตัวเลขสถิติที่จะต้องลดลง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยจะให้คณะกรรมการวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณา ยืนยันว่ารัฐบาลเข้าใจผลกระทบ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมศบค.รับทราบรายงานภาพรวมการติดตั้งจุดควบคุมการเฝ้าระวังว่าเป็นไปอย่างเข้มงวด การจัดเครื่องบินไปรับส่งตัวอย่างสารคัดหลั่งของบุคคลเสี่ยงที่จังหวัดภูเก็ตมาตรวจที่กรุงเทพมหานคร เพราะสรรพกำลังการตรวจในต่างจังหวัดยังไม่เท่ากับของกรุงเทพมหานคร ส่วนการกระจายหน้ากากอนามัยขณะนี้แจกจ่ายไปแล้ว กว่า 50 ล้านชิ้นทั่วประเทศ
“มาตรการการเดินทางเข้าออกประเทศ ได้ทยอยนำคนไทยกลับจากต่างประเทศโดยไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ ส่วนปัญหาแรงงานข้ามแดนได้ประสานกับฝ่ายความมั่นคงและประสานกับประเทศต้นทางเพื่อจะชะลอการเดินทางเอาไว้ ขณะนี้แรงงานชายแดนทางบก ไม่มีติดค้างแล้ว และจะเพิ่มความเข้มงวด รถรับจ้างขนแรงงานและผู้ที่จะเดินทางเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของคนไทย คือ “หมอชนะ”ที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลของประชาชนเพื่อการตรวจสอบความเสี่ยงติดเชื้อได้ด้วยตนเอง และ “DDC-Care” เพื่อติดตามดูแลและประเมินกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงการติดเชื้อด้วย.-สำนักข่าวไทย