ทำเนียบฯ 15 ก.ย.- ศบค. จ่อเปิด ท่องเที่ยวภูเขา-ทะเล นายกฯ สั่ง กระทรวงสาธารณสุข-กระทรวงการท่องเที่ยวฯ-กระทรวงมหาดไทย เล็ง พื้นที่นำร่องพร้อมกำหนดเงื่อนไขมาตรการรองรับ
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวตอนหนึ่ง ว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค. หารือกันว่าตอนนี้ใกล้ถึงฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว และได้รับรายงานเรื่องการทำงานของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พบว่า ยอดการจองที่พัก ช่วง 1 ก.ค.-14 ก.ย.นี้ สะสม 76 วัน ประมาณ 524,221 คืน จำนวนคน 32,005 คน และพบว่าจากการตรวจหาเชื้อในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 พบผู้ติดเชื้อเพียง 91 คน ส่วนใหญ่พบเชื้อเดลต้า ส่วนการติดเชื้อใหม่ในพื้นที่ มีรายงานว่า 229 ราย มีทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในพื้นที่ภูเก็ต แต่ชาวต่างประเทศนั้นเป็นศูนย์ โดยทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ที่ได้คอนเฟอเรนซ์มาร่วมประชุม ได้รายงานว่ารับมือไหว มีสมรรถนะในการรักษาที่รองรับได้ ถึงแม้จำนวนของคนป่วยและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่ง 90% แข็งแรงดี มีอาการไม่มาก อยู่ในกลุ่มสีเขียว ส่วนกลุ่มสีเหลืองสีส้มนั้นมีประมาณ 4% สีแดงประมาณ 6% สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทย ที่ภูเก็ตอันดับสูงสุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล ยูเออี ยูเค เยอรมันนี อื่นๆ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการ 7+7 ใน 3 จังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี ที่เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า นั้น รายงานว่า มีการเข้าพักประมาณ 3,900 กว่าคืน พังงา ที่ เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เขาหลัก ประมาณ 1,900 กว่าคืน กระบี่ ที่ เกาะพีพี ไร่เลย์ เกาะไหง อีก 1,263 คืน รวม 3 จังหวัด 7,135 คืน นี่คือช่องทางของการทำให้เศรษฐกิจของคนที่พึ่งพาทางด้านการท่องเที่ยวพอจะหายใจหายคอออกบ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ศบค. มีแผนการรับการท่องเที่ยวที่จะเปิดประเทศในวันที่ 1 ต.ค.นี้อย่างไรบ้าง นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. สั่งการว่า ให้มองไปถึงในช่วงที่เรามีฤดูกาลท่องเที่ยวในภาคปกติ คือ ไตรมาส 4 ของทุกปี หรือ ไฮซีซั่น เพื่อที่จะดูว่าเราจะต้องเตรียมตัวอะไรกันอย่างไร ในขณะที่จะต้องอยู่กับ โควิด-19 ไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ ก็จำเป็นที่ต้องปรับตัว จึงได้ให้นโยบายมา เป็นข้อสั่งการว่าขอให้เตรียมความพร้อม ให้กับนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อที่จะได้ท่องเที่ยวกันในช่วงไฮซีซั่นนี้ โดยให้ไปดูในพื้นที่ เพื่อที่จะประกาศพื้นที่นำร่อง คือ 1.พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวปลอดภัยจาก โควิด-19 หรือโควิดฟรี ทัวริสต์แอเรีย แซนด์บ็อกซ์ ที่มีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว จึงได้มอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ไปร่วมกันพิจารณา เช่น พื้นที่เกาะ พื้นที่ที่มีสนามบิน 2.ต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุม โควิด-19 ในพื้นที่นั้น ๆ และต้องได้รับความเห็นชอบในการดำเนินการ โดยดูความพร้อมของประชาชนในพื้นที่ด้วยว่าพร้อมหรือไม่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีไม่มาก สามารถควบคุมได้ จำนวนการฉีดวัคซีนเหมาะสม 3.มีขีดความสามารถในการรักษา มีเตียงมีทรัพยากรทางการแพทย์และพยาบาลเพียงพอหรือไม่ หากเกิดการระบาดขึ้นมาจะสามารถควบคุมโรค สามารถให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น ๆ ได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ให้พิจารณา ระยะแรกเป็น พื้นที่นำร่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป หากมีความพร้อมให้เปิดทดลองดำเนินการ
ส่วนระยะที่สอง ก็อาจจะเป็นพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงระยะเวลา 15 ต.ค. หรือ 1 พ.ย.ไปแล้ว ที่อาจจะเปิดพื้นที่ที่มีความพร้อมอื่น ๆ เช่น ทะเลในภาคตะวันออก ภูเขาในภาคเหนือ หากพร้อมก็ให้ทดลองดำเนินการ.-สำนักข่าวไทย.