พิษณุโลก 5 พ.ค.- กลุ่ม อสม.พิษณุโลก เรียกร้องผู้ว่าฯ ตรวจสอบกรณีไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงช่วงวันที่ 12-30 เม.ย. จากการปฏิบัติงานตรวจคัดกรองโควิด-19 ในชุมชน อ้างไม่สามารถเบิกเงินได้ ผิดระเบียบกรมบัญชีกลาง
วันนี้กลุ่มเจ้าหน้าที่ อสม.พิษณุโลก ออกมาเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ตรวจสอบกรณีไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 240 บาท ระหว่างวันที่ 12-30 เม.ย. เป็นเงิน 5,040 บาท หลังได้รับคำสั่งให้ออกไปปฏิบัติงานตรวจคัดกรองโควิด-19 ในชุมชน อ้างไม่สามารถเบิกเงินได้ ผิดระเบียบกรมบัญชีกลาง วอนหน่วยงานที่รับผิดชอบแสดงความชัดเจน
นายคนาธิป นาทิพย์ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เขตเทศบาลนครพิษณุโลก กลุ่มเจ้าหน้าที่ อสม.กว่า 100 คน นัดรวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณีไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงจากการปฏิบัติงานตรวจคัดกรองโควิด-19 ในชุมชน เดินถือป้ายไปหน้าศาลากลางจังหวัด
นายคนาธิป เปิดเผยว่า ไปพบท่านผู้ว่าฯ แต่ผู้ว่าฯ ไม่ลงมาเจรจา จำเป็นต้องมาขอความชัดเจน ทั้งเรื่องการปฏิบัติงานวัดอุณหภูมิชาวบ้าน 1 ต่อ 100 ครัวเรือน เรื่องการเบิกค่าตอบแทนการลงเวลาตามคำสั่งจะได้หรือไม่ ค่าตอบแทนจะได้ 120 บาท หรือ 240 บาท หรือมื้อละ 50 บาท อยากได้ยินจากท่านผู้ว่าฯ เอกสารประกอบการเบิกต้องทำขึ้นมาใหม่ใช่หรือไม่ ถ้าใช่เท่ากับต้องทำเอกสารปลอมหรือไม่ เพราะงานได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลักฐานคือการรายงานผ่านแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ยังมีการให้ข่าวจากศูนย์สุขภาพที่ 2 พิษณุโลก ให้ข่าวกับเพจเอนตี้เฟคนิวส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แจ้งข่าวว่า อสม.พิษณุโลก ไม่ได้ค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ “เป็นข่าวบิดเบือน” เป็นข่าวปลอม และยังไม่ให้ประชาชนแชร์ ไม่ส่งต่อ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบ แต่ความจริงแล้ว อสม.ไม่ได้รับค่าตอบแทน อ้างผิดระเบียบของกรมบัญชีกลาง ทำให้เกิดปัญหาเบิกจ่ายเงินให้กับกลุ่ม อสม.
เบื้องต้น นายอธิปไตย ไกรราช ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิษณุโลก เป็นตัวแทนมารับหนังสือเรียกร้องจากกลุ่ม อสม.พิษณุโลก ระบุว่า ผู้ว่าฯ รู้สึกซาบซึ้งใจและไม่มีสิ่งใดจะตอบแทนน้ำใจ อสม. ในการทำหน้าที่คัดกรองโควิด-19 สิ่งที่ราชการต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ เบิกจ่ายค่าตอบแทนทำเป็นพิเศษเร่งด่วนจากกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งตามระเบียบสามารถเบิกจ่ายค่าตอบแทน อสม. 1 คน วันละ 6-8 ชม. อัตราละ 120 บาท
ทั้งนี้เกณฑ์ดังกล่าวได้รับการยืนยันและสอบทานจากหัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายในจังหวัดพิษณุโลก ว่าดำเนินการได้ โดยให้แนบหลักฐานการทำงาน รายชื่อประชากรให้ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน และรับรองโดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันไม่มีการเบิกจ่ายซ้ำซ้อนจากแหล่งเงินอื่นๆ โดยยื่นเอกสารเบิกจ่ายโดยเร็วมายังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก. – สำนักข่าวไทย