กรุงเทพฯ 2 พ.ค. – ปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ นอกจากให้ยารักษาตามอาการ ล่าสุดมียาอีกหนึ่งชนิด คือ เรมเดซิเวียร์ ซึ่งขณะนี้สหรัฐอเมริกานำมาใช้ หลังมีผลการวิจัยทางคลินิกเบื้องต้นพบว่าได้ผลดี ลดการนอนโรงพยาบาลได้
ยาเรมเดซิเวียร์ คือ ยาชนิดล่าสุดที่สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) อนุมัติเป็นกรณีฉุกเฉินให้นำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาได้ หลังมีผลการวิจัยทางคลินิกเบื้องต้น โดยสถาบันโรคติดต่อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติสหรัฐ ระบุว่า ประสิทธิภาพการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นที่น่าพอใจ
ยาเรมเดซิเวียร์ ผลิตและพัฒนาโดยบริษัทยาของสหรัฐอเมริกา เพื่อนำไปใช้ทดลองรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโบลา ยาตัวนี้มีลักษณะเป็นยาฉีด โดยหลักการทำงานของยาจะช่วยขัดขวางการเพิ่มจำนวนของไวรัส แต่เมื่อการทดลองในผู้ป่วยอีโบลาไม่สำเร็จ จึงนำมาทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กว่า 1,000 คน และพบว่า ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ เวลารักษาพยาบาลจะสั้นกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกประมาณ 4 วัน
ผลการศึกษาเบื้องต้นยังพบอีกว่า การใช้ยาชนิดนี้ ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง 8% ส่วนยาหลอก อัตราการเสียชีวิตลดลง 11.6% แม้จะมีรายงานเบื้องต้นทางคลินิก ผลเป็นที่พอใจ กลายเป็นอีกหนึ่งความหวังใหม่ของการรักษาผู้ติดเชื้อ แต่ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า นี่เป็นเพียงการทดลองเบื้องต้นเท่านั้น และต้องมีกระบวนการทดลองอีกหลายขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยในหลายประเทศ ทั้งที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป แต่การทดลองในจีนไม่ได้ผล ส่วนประเทศไทยจะมีโอกาสได้ใช้ยาเรมเดซิเวียร์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจดทะเบียนยา และเมื่อมีการขึ้นทะเบียนทั่วโลก ก็สามารถซื้อได้
ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ ยาที่หลายประเทศนำมาใช้รักษาผู้ป่วย จึงเป็นยาที่มีหลักฐานทางการแพทย์น่าเชื่อว่าจะมีประโยชน์มาใช้รักษา ควบคู่ไปกับการเก็บข้อมูล เช่น ยาคลอโรควิน, ยาต้าน HIV สูตรโลพินาเวียร์ และริโทนาเวียร์, ยาฟาวิพิราเวียร์ และล่าสุดคือ ยาเรมเดซิเวียร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นยาที่ยังไม่ผ่านการรับรอง แต่สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) เพิ่งอนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในโรงพยาบาล 27 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา หลังมีข้อมูลทางวิชาการระบุว่า ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการรักษา โดยมีเงื่อนไขสำคัญ ผู้ป่วยที่จะรับยาชนิดนี้ต้องเจาะเลือด ตรวจหาเอนไซม์ตับทุกวัน พิจารณาว่าควรใช้ยาเรมเดซิเวียร์หรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น. – สำนักข่าวไทย