บมจ.อสมท 22 เม.ย.-อสมท เป็นสื่อกลางรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์จากภาคเอกชนเพื่อส่งต่อให้ รพ.15 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทำเทปรายการพิเศษความร่วมมือแพทย์ไทย-จีนในการสู้โควิด-19 เตรียมออกอากาศปลายเดือนนี้
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท รับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์จากภาคเอกชน และเครือข่ายสมาคมที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ และโครงการเงินบริจาคโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งร่วมบริจาคชุดป้องกันเชื้อ PPE Hood ,กล่องป้องกันเชื้อฟุ้งกระจาย, หน้ากากอนามัย 3 ชั้น , หน้ากาก N95, ถุงครอบเท้าป้องกันเชื้อ ,ถุงมือแพทย์ และเจลแอลกอฮอล์ รวมมูลค่ารวมกว่า 480,000 บาท เพื่อส่งต่อให้แก่โรงพยาบาล 15 แห่งทั่วประเทศ
นางกัลยาณี คงสมจิตร ประธานบริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนที่ดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในหลายจังหวัด ซึ่งธุรกิจและลูกค้าล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงได้ร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นเครือข่าย ร่วมรณรงค์หาทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคใต้ ที่ห่างไกลความเจริญ ซึ่งอาจมีอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ผ่าน อสมท ซึ่งได้จัดรายการพิเศษ “ร่วมใจคนไทย สู้ภัยโควิด-19“ ขึ้น และเป็นสื่อกลางที่ดีในการประชาสัมพันธ์รณรงค์หาทุนเพื่อส่งต่อความห่วงใย แก่บุคลากรทางการแพทย์
ซึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าว จะส่งมอบให้กับโรงพยาบาล 15 แห่ง ได้แก่ รพ.รามัน จ.ยะลา, รพ.ยะลา , รพ.วชิระ จ.ภูเก็ต, รพ.ปะเหลียน จ.ตรัง , รพ.ระโนด จ.สงขลา , รพ.ห้วยยอด จ.ตรัง, รพ.บันนังสตา จ.ยะลา ,รพ.ยะรัง จ.ปัตตานี ,รพ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี , รพ.แกลง จ.ระยอง ,รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา , รพ.สอยดาว จ.จันทบุรี , รพ.สุราษฎร์ธานี , รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และ รพ.กาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์
นอกจากนี้ยังได้ดึงจุดแข็งของภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญในการอกแบบระบบออโตเมชั่นและผลิตหุ่นยนต์โลจิสติกส์ เพื่อใช้ในการอุตสาหกรรมและมีทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญและมีอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูง จากบริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมด้วย บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) และสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ร่วมกันพัฒนา “AGV Hospital Cart Transport System”หุ่นยนต์จัดส่งยา อาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์” สำหรับหุ่นยนต์ AGV Hospital ตัวนี้ทำงานโดยใช้อุปกรณ์พิเศษเกรดอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถวิ่งบนเส้นแถบแม่เหล็กและเดินไปมาเองได้โดยไม่ต้องใช้รีโมทคอนโทรลหรือคนบังคับ , มีกล้องและจอ เพื่อการสื่อสารระหว่างคนไข้และแพทย์ , มีสัญญาณไฟและลำโพงในการแจ้งเตือนคนไข้ , มีระบบสแกนตัวตนผู้ป่วยเพื่อปลดล็อกลิ้นชัก และเพื่อป้องกันการผิดพลาด , มีเซ็นเซอร์กันชน หน้า-หลัง ป้องกันการชนสิ่งกีดขวาง , และมีแบตเตอรีที่ใช้งานได้นาน 6-8 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อสร้างหุ่นยนต์ตัวนี้ให้แล้วเสร็จภายในเมษายน จะบริจาคให้กับโรงพยาบาลที่แจ้งความประสงค์มาต่อไป
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 อสมท ได้หารือร่วมกับรัฐบาล ในการทำหน้าที่สื่อกลางในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน โดยได้จัดรายการพิเศษ“ร่วมใจคนไทย สู้ภัยโควิด-19“ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.30 น. เพื่อให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรค การป้องกัน รวมถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกด้านและเป็นสื่อกลางในการรับบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์จากภาคส่วนต่างๆและภาคประชาชนเพื่อนำไปมอบให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน และในวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.)จะมีรายการพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง อสมท กับ chiana media group โดยจัดให้มีการเทเลคอนเฟอเรนซ์ ระหว่างทีมแพทย์จากแพทยสภาของไทย กับ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโควิด-19 จากจีน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การรักษาโควิด-19 ซึ่งเบื้องต้นทีมแพทย์จากไทยจะมี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ,พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ซึ่งในการเทเลคอนเฟอเรนซ์ครั้งนี้ จะมีการถ่ายทำและบันทึกเทปรายการเพื่อนำมาออกอากาศในรายการพิเศษของอสมท ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้.-สำนักข่าวไทย