กรุงเทพ ฯ 20 เม.ย. – PwC เผย CFO ส่วนใหญ่กังวลโควิด-19 ทำรายได้ปี 63 หดหาย-มีแผนเลิกจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น หลังธุรกิจขาดสภาพคล่อง
นายนิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงาน Clients and Markets หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็น COVID-19 CFO Pulse Survey ครั้งที่ 3 จำนวน 824 ราย ในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ถูกสำรวจจาก 21 อาณาเขตและประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย พบว่าซีเอฟโอส่วนใหญ่ถึง 74% กังวลต่อผลกระทบทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ขณะที่ 80% คาดว่ารายได้ปีนี้จะลดลง ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการทางเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ที่คาดว่ารายได้ต่อหัวของประชากรในกว่า 170 ประเทศทั่วโลกจะลดลงในปีนี้เช่นกัน
โดยมาตรการสำคัญอันดับที่ 1 ที่ซีเอฟโอทั่วโลกรวมทั้งไทยนำมาใช้ในเวลานี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส คือ การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย นอกเหนือไปจากการชะลอ หรือยกเลิกแผนลงทุน ในส่วนของผลกระทบต่อแรงงานระยะสั้นนั้น ความกังวลของซีเอฟโอยังคงเป็นเรื่องความสามารถในการผลิตที่อาจจะลดลงจากการปิดโรงงาน หรือหากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสในวงกว้าง อาจส่งผลให้ต้องมีการสั่งพักงาน รวมถึงการเลิกจ้างพนักงานในบางกรณีด้วย
“บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องวางแผนรับมือในช่วงภาวะวิกฤติ มีบริษัทหลายรายในไทยที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงมาตรการเยียวยาอื่น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของพวกเขา สำหรับบริษัทที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นบริหารจัดการภาวะวิกฤติและยังไม่มีแผนในการฟื้นฟูกิจการ ควรต้องเร่งสรุปแผนปฏิบัติการในระยะต่าง ๆ รวมทั้งเตรียมแผนระยะยาวไว้เผื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจยืดเยื้อด้วย” นายนิพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ผลสำรวจครั้งนี้พบว่า 26% ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน หรือซีเอฟโอ ในสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะต้องมีการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก 2 สัปดาห์ก่อนที่ PwC ทำการสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอสหรัฐ และเม็กซิโกที่ 16%
ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อต่อไปในปี 2563 ผลกระทบทางการเงินได้กลายเป็นปัจจัยความกังวลอันดับแรกในกลุ่มผู้บริหารฝ่ายการเงิน โดย 75% ของซีเอฟโอมีความกังวลว่า วิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท โดยเวลานี้ 82% ของซีเอฟโอได้มุ่งเน้นไปที่การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน นอกจากนี้ 2 ใน 3 หรือ 67% ของผู้ถูกสำรวจยังมีการพิจารณาที่จะชะลอ หรือยกเลิกแผนลงทุนที่วางไว้ โดยบริษัทส่วนใหญ่ต้องการควบคุมต้นทุนด้วยการชะลอการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเพื่อสินทรัพย์ทั่วไป รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บุคลากร และอื่น ๆ.-สำนักข่าวไทย