กรุงเทพฯ 17 เม.ย. – กฟผ. เตรียมพร้อมนำเข้า LNG แบบ Spot ปริมาณ 65,000 ตัน ตามกำหนดการ 21 เม.ย. นี้ มีมาตรการเข้ม ป้องกันแพร่ระบาด COVID-19 ตั้งแต่ขบวนการ Load LNG จากหน่วยผลิต LNG ณ ประเทศมาเลเซีย มีการตรวจคัดกรองลูกเรือและผู้เกี่ยวข้องที่ต้องเดินทางพร้อมเรือ Seri Angkasa ตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรคติดต่อและ มาตรฐานของสถานี PTT LNG และมาตรการคัดกรอง COVID-19
นางราณี โฆษิตวานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของ กฟผ. ในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) ลำเรือที่ 2 แบบตลาดจร (Spot) ปริมาณ 65,000 ตัน จากบริษัท PETRONAS LNG ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ กฟผ. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญพร้อมปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันแพร่ระบาด COVID-19 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ซึ่งตลอดการดำเนินงานตั้งแต่การเตรียมความพร้อมตั้งแต่ต้นทาง Load LNG จนถึงวันส่งมอบ LNG กฟผ. ได้ติดต่อประสานงานผ่านการประชุมทางไกลระบบวิดีโอ (VDO Conference) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท PETRONAS LNG, บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTT LNG) และ ปตท. ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (PTT TSO) เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานจะเป็นไปตามขั้นตอนและไม่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค
สำหรับการนำเข้า LNG ลำเรือที่ 2 โดยเรือ Seri Angkasa ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะเดินทางมาเทียบท่าเรือ PTT LNG อ.มาบตาพุด จ.ระยอง ในวันที่ 21 เมษายน 2563 นี้ ลูกเรือและผู้เกี่ยวข้องทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันหรือลดผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและข้อกำหนดของสถานี PTT LNG นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการตรวจสอบเอกสาร การตรวจรับ LNG ผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมล์ และในขั้นตอนการ Load ก๊าซธรรมชาติเข้าระบบเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า กฟผ. ทีมงาน กฟผ. ทุกคนได้มีการเฝ้าติดตามการบริหารจัดการเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติผ่านโปรแกรมเรียกรับก๊าซของ PTT LNG และ PTT TSO เพื่อให้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเข้า LNG ลำเรือที่ 2 ของ กฟผ. จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4 ผ่านโปรแกรมเรียกรับก๊าซของ PTT LNG และ PTT TSO ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะใช้เวลาส่งก๊าซจากคลัง ปตท. ไปยังแต่ละโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้ารวมแล้วเสร็จโดยประมาณ ทั้งสิ้น 13 วัน คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง (Ft) 0.7 สตางค์ต่อหน่วย
“อย่างไรก็ดีจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 กฟผ. อยู่ในระหว่างการทบทวนแผนการจัดหา LNG ในระยะกลางระหว่างปี 2563 – 2565 ซึ่งได้ผ่านมติคณะกรรมการ กฟผ. เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้จัดหา LNG แบบ Spot เพิ่มเติม เพื่อเสริมความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และเกิดการแข่งขันเสรีก๊าซธรรมชาติ และคาดว่าจะสามารถนำเสนอทางด้านนโยบายเพื่อขอความเห็นชอบในลำดับถัดไป” ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง กล่าวในที่สุด . – สำนักข่าวไทย