กรุงเทพฯ 9 เม.ย. – รมว.คลัง ชี้แจงยืดเวลารับเงินเยียวยา 5 พันบาท ยันจ่ายก่อน 3 เดือน อีก 3 เดือน รอดูสถานการณ์โควิด-19
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงผ่านเฟสบุ๊กถึงกรณีที่มีคำถามว่า เหตุใดจึงมีการยืดระยะเวลาให้ผู้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท จากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือน ขออธิบายเพิ่มเติมว่าความจริงกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของการตั้งกรอบเวลาในการเยียวยาไว้ เนื่องจากยังไม่รู้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ดังนั้น ระยะแรก จึงจะมีการเยียวยาในช่วง 3 เดือนก่อน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็สามารถขยายระยะเวลาเพิ่มเติมได้อีกตามความเหมาะสม ในทางกลับกันหากสถานการณ์จบก่อน ก็สามารถยุติการเยียวยาได้เช่นกัน
อีกเรื่อง คือ การบริหารจัดการมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้น ได้กำชับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารกรุงไทย ว่า จำเป็นต้องทำเร็วและเร่งด่วน แต่ต้องควบคู่ไปกับการจ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ 2 ในการทยอยโอนเงินให้กับผู้ผ่านเกณฑ์ตรวจสอบ และจะทยอยจ่ายต่อไปอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเยียวยาได้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนในวัยทำงานเป็นหลัก เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ขอย้ำว่าทั้งหมดอยู่ภายใต้คำนิยามว่าต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งจะแยกย่อยไปตามกลุ่มอาชีพต่าง ๆ แต่ที่สำคัญต้องเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการเยียวยาหรือดูแลจากภาครัฐตามมาตรการอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว หากท่านใดสงสัยว่าอยู่ในเกณฑ์ได้รับสิทธิ์หรือไม่ สามารถสอบถามขอความช่วยเหลือไปที่ Call Center ธนาคารกรุงไทย 02-111-1144 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3421, 3422, 3423, 3424, 3425, 3427, 3429, 3430, 3572 (ในวันและเวลาราชการ)
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยึดแนวนโยบายที่จะต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมที่สุด ภายใต้กรอบงบประมาณ 1 ล้านล้านบาท หมายความว่าสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางมาตรการหรือวงเงิน ได้สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นรายครัวเรือน ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้า ครม.เร็ว ๆ นี้ โดยมุ่งหวังว่าจะครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างที่สุด และประคับประครองเศรษฐกิจในภาพรวมไปพร้อมกัน
นางสาวฉัตรทริกา น้ำก่ำ ชาวจังหวัดอุดรธานี หนึ่งในผู้ที่ได้รับเงิน 5,000 บาทจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน เปิดเผยว่า ตนมีอาชีพเป็นช่างทำผมแบบฟรีแลนซ์ ซึ่งปกติจะมีการรับงานลูกค้าทั้งในองค์กรและนอกสถานที่ แต่ภายหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้เกิดการยกเลิกงานต่างๆ ทำให้ลูกค้าหายหมด บางวันแทบจะไม่มีรายได้เลย ตนเองจึงได้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล ซึ่งเมื่อวาน (8 เม.ย.) นี้ ช่วงเวลาประมาณ 03.00 น. ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีแล้ว 5,000 บาท จากนั้นจึงค่อยมี SMS ส่งมาแจ้งว่าจะโอนเงินเข้ามาให้ โดยตนเองจะนำเงินจำนวนนี้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอาหาร ของใช้ภายในบ้าน
ทั้งนี้ ตนรู้สึกดีใจและขอบคุณการช่วยเหลือจากรัฐบาลในครั้งนี้ที่มาช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว พร้อมยอมรับว่ายังมีค่าบ้านและค่ารถที่ต้องผ่อนชำระ อยากให้ธนาคารพาณิชย์ยื่นมือเข้ามาช่วยยืดระยะเวลาการผ่อนชำระรวมถึงลดค่างวดตรงนี้ด้วย พร้อมยอมรับว่า ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจรายละเอียดโครงการ และการรับเงินตามโครงการ อยากให้รัฐช่วยสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ตนได้มีการปรับตัวหันมาขายอาหารปรุงสำเร็จผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ไลน์แมน เพื่อหารายได้เสริมได้วันละ 1,000 – 2,000 บาท . – สำนักข่าวไทย