วีระศักดิ์ เชียร์ใช้เงินกู้เพื่อการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ

กรุงเทพฯ 8 เม.ย.- “วีระศักดิ์” เชียร์ใช้เงินกู้เพื่อการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทโดยให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมดูแล ตรึงให้คนอยู่บ้าน ฟื้นฟูถิ่น


นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ระบุถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติครั้งประวัติศาสตร์อนุมัติพ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท วานนี้ (7เม.ย.) ว่า  เป็นการกู้มาตั้งเป็นงบประมาณพิเศษให้ใช้จ่ายเพื่อป้องกันและบำบัดรักษาโควิด-19 ในกระบวนงานด้านสาธารณสุขถึง 6 แสนล้านบาท นับว่าสร้างความอุ่นใจให้คนสายบริการสุขภาพได้อย่างดีเยี่ยม 

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนอีก 4 แสนล้านบาท คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้ใช้เพื่อการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ โดยระบุไว้เป็น 2 ประเภท คือประเภทแรก ใช้สร้างความเข้มแข็งของ “เศรษฐกิจชุมชน” และประเภทที่สอง ใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับ “พื้นที่” ซึ่งครม. วางจุดเน้นให้มาแล้วเงิน 4 แสนล้านนี้ ต้องใช้เพื่อชุมชนในพื้นที่ นี่จึงไม่ใช่งบกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใช้ทำอะไรก็ได้ และไม่ใช่งบให้ไปแข่งปั้นหาผู้ชนะจำนวนน้อย ๆ ที่เป็นเลิศ แต่ให้ใช้ ฟื้นฟู ทั้งสังคมและเศรษฐกิจระดับพื้นที่


“เงินนี้จึงควรส่งตรงไปที่กองทุนที่ประชาชนในชุมชนได้ดูแลออกแบบมีส่วนร่วมมาก ๆ กองทุนไหนมี ขาใหญ่คุมอยู่ก็ไม่พึงใส่ไปให้ เตะหมูเข้าปากโควิดเปล่า ๆ และควรให้ชาวบ้านติดตามผลกันอย่างกว้างขวางในพื้นที่ด้วย ส่วนราชการแค่กำกับอยู่ไม่ไกล คอยสนับสนุนประคับประคองก็พอ อย่าได้ไปแย่งทำโครงการจากชาวบ้านอีกเลย ระบบคุณพ่อรู้ดีนี่ทำพังแล้วก็รับผิดชอบไม่เคยไหว และนี่คือเงินกู้มา รัฐต้องรอเอาภาษีไปชดใช้คืน ซึ่งยังมองภาพไม่ค่อยออกว่า กว่าประชาชนและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวมาจ่ายภาษีได้ใหม่จะอยู่ราว พ.ศ. ไหน” นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า มีข้อเสนอว่า เมื่อเงินไปถึงกองทุนที่ภาคประชาชนเป็นคนขับเคลื่อนแล้ว ควรเน้นการซื้อ การจ้างในระดับท้องถิ่นให้มาก จะซื้อปัจจัยใดก็ตาม ควรเฟ้นหาจากสิ่งที่มีการผลิตได้โดยชาวบ้านก่อน ให้เงินมุ่งไปสนับสนุนที่กระบวนการผลิตของพวกเขา ถ้าจะจ้างแรงงาน ก็ควรจ้างคนในท้องถิ่นที่ยังว่างงานก่อน เพื่อให้เขาอยู่ในท้องถิ่นนั้น ทำสาธารณะประโยชน์ให้ท้องถิ่น จะเป็นการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม จะจ้างเขาเหล่านั้นไปดูแลช่วยเหลือผู้เปราะบางในท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น 


นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากเป็นงบพิเศษหนเดียวจบไม่ใช่งบประจำ ดังนั้น เป้าหมายการจ้างจึงควรเน้นให้ผู้รับจ้างทำในสิ่งที่จะเกิดผลประโยชน์ที่ใช้สอยได้นาน ๆ เช่น จ้างมาปรับปรุงทางเท้า ทำราวกันตกให้ปลอดภัยขึ้น ทั้งในพื้นที่สาธารณะและในเคหะสถานของกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ หรือสถานที่ ที่มีเด็ก ๆ การจ้างไปปรับปรุงห้องน้ำ การทำทางลาด ราวจับ เปลี่ยนสายไฟฟ้า เพิ่มจุดส่องสว่าง หรือทำเรื่องลานกิจกรรมขนาดเล็ก ๆ ดูแลง่าย ใช้ได้สารพัดประโยชน์ เช่น เทพื้นทำลานตากผลผลิตทางการเกษตรระดับหมู่บ้าน ทำโรงเรือนกลางของชุมชนในการเก็บรักษา หรือพัฒนาแปรรูปผลผลิต เป็นต้น

นายวีระศักดิ์ ยังเสนอให้ใช้งบมาทำต่อยอดระบบออนไลน์ให้ชุมชนใช้ติดตามและนำเสนอผลผลิตของตนไปสู่ตลาดโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง เศรษฐกิจชุมชนจะเข้มแข็งถ้าลดการนำเข้าปัจจัยการผลิต ลดการพึ่งพาคนกลางในการเข้าถึงตลาด เข้าถึงบทวิเคราะห์และข้อมูลเพื่อบริหารความเสี่ยงใช้ฝึกทักษะดิจิทัลให้ตัวแทนชุมชนก็ไม่เลว รวมถึงใช้งบนี้เพื่อให้ชุมชนนำไปร่วมกันพัฒนาแหล่งเก็บ และวิธีปันน้ำ เพื่อให้เป็นการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำขาดและน้ำแล้งที่ชุมชนดูแลเองได้ เพราะน้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่เลี่ยงไม่ได้ เศรษฐกิจชุมชนจะฟื้นฟูได้จึงต้องมีแหล่งน้ำที่บริหารกันเองได้ในระดับชุมชน

“ขณะที่คนหนุ่มสาวที่กลับมาจากเมืองก็เป็นทรัพยากรที่ชุมชนพึงรักษาไว้ โอกาสกระจุกตัวในเมืองใหญ่คงไม่กลับมาง่าย ๆ อย่างที่เคยแล้ว ระบบอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์ และระบบกระจายความเสี่ยงต่าง ๆ จะทำให้แหล่งงานเชิงอุตสาหกรรมค่อยๆ หดหายไปอย่างมองไม่ทันเห็น  การให้คนหนุ่มสาวเข้ามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบการผลิต การค้า การแปรรูป และการดูแลบุคลากรเปราะบางทางสังคมอย่างมีคุณค่า จึงต้องรวมเข้าไปในแผนฟื้นฟูชุมชนทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย” นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า หนุ่มสาวสามารถช่วยคิดช่วยทำเรื่องบริหารท่องเที่ยวโดยชุมชน ใช้งบฝึกทักษะ ฝึกภาษา ฝึกการตลาด ฝึกทำมาตรฐานความปลอดภัยเป็นฐานการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป ขณะที่โควิด-19 ทยอยคืนสมดุลทางธรรมชาติ กลับเข้าทุกพื้นที่ทั่วโลก สิ่งเดียวที่โควิดบังคับทุกพื้นที่ให้ใช้กันอย่างสิ้นเปลืองมากช่วงนี้ คือพลาสติก ที่เป็นสิ่งป้องกันการติดเชื้อที่ราคาถูกกว่าวัสดุอื่น แต่กำจัดได้ยาก ถ้าการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนมีที่มาจากการฟื้นฟูรากฐานการดูแลสิ่งแวดล้อม การฝึกหัดจัดการขยะ การขจัดวัชพืช การขจัดสารพิษ การขจัดฝุ่นควันและไฟเผาวัสดุการเกษตร ตลอดถึงการปล่อยไฟเผาป่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ควรหยุดลงให้ได้ งบประมาณเพื่อการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทนี้ จึงจะส่งผลทั้งการได้จ้างงานเป็นเวลาสั้น ๆ ได้ประโยชน์สาธารณะระยะกลาง และได้ทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุลขึ้น และสะอาดขึ้นในระยะยาว

“หากกระบวนงานในทั้งหมดนี้ทำไปอย่างมีสำนึกและสติในการป้องกันการระบาดซ้ำของโควิด-19 ด้วยชุมชน ก็จะได้สุขภาวะและอนามัยชุมชนอันพึงปรารถนาตลอดเส้นทาง สำคัญที่สุดคืออย่าให้เงินนี้โลภ อย่าให้ใครมาแทะเล็ม อย่าเผลอแฝงประโยชน์ ขอเชียร์ให้งบนี้ ช่วยตรึงให้คนอยู่บ้าน ฟื้นฟูถิ่น ห่างกันด้านกาย แต่หวนใกล้ชิดสนิทกันทางสังคมขึ้นมาใหม่ กายไร้โรค ไม่รอเพียงโชคในการผลิต คิดอย่างพอเพียง แล้วชีวิตจะเพียงพอเอง” นายวีระศักดิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย      

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เจรจาล่ม ตัวแทนจีนไม่พอใจลุกกลางวงเจรจา ยันไม่ติดเงินใคร

เจรจาล่ม ตัวแทนจีนไม่พอใจ ลุกกลางวงเจรจา ยันไม่ติดเงินใคร ด้านบริษัท 9PK นำเอกสารชี้แจง พร้อมขอให้บริษัทจีนช่วยอนุมัติเงินมาจ่ายให้กลุ่มผู้รับเหมาก่อน

จับแล้วโจรบุกเดี่ยวชิงทองกลางเมืองหาดใหญ่

จับแล้วโจรมาเลย์บุกเดี่ยวชิงทองกลางเมืองหาดใหญ่ จนมุมสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ เผยมาหาลูกชายที่ จ.นนทบุรี แต่ลูกไม่ให้เข้าบ้าน

ปิดล้อมจับชายวัย 43 ยิงเพื่อนบ้าน-ตร.เจ็บ 4

ตำรวจปิดล้อมนานถึง 11 ชั่วโมง จับชายวัย 43 ปี ใช้ปืนยิงเพื่อนบ้านและตำรวจที่เข้าระงับเหตุ บาดเจ็บรวม 4 ราย หลังโมโหเพื่อนบ้านติดกล้องวงจรปิดหันส่องไปทางบ้านผู้ก่อเหตุ ยิงแก๊สน้ำตา-ญาติเกลี้ยกล่อม ยังไม่เป็นผล

แผ่นดินไหวขนาด 5.8 ในไต้หวัน-ไม่มีรายงานความเสียหาย

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาไต้หวันรายงานวันนี้ว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาดด 5.8 ที่เทศมณฑลอี้หลาน (Yilan) ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทห่างไกลทางตจะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ข่าวแนะนำ

คุมตัวโจรมาเลย์ชิงทอง 138 บาท ทำแผนฯ

ตำรวจคุมตัวโจรมาเลย์ชิงทอง 138 บาท ในพื้นที่หาดใหญ่ ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ พบประวัติสุดแสบ ปล้นฆ่าที่มาเลเซียตั้งแต่อายุ 17 ยังหนีมาก่อเหตุซ้ำที่ไทยอีกหลายครั้ง

นายกฯ ขึ้น ฮ. ดูสภาพจราจรเดินทางสงกรานต์

นายกฯ ขึ้น ฮ. บินดูสภาพจราจร ถ.มิตรภาพ-เส้นทางขึ้นเหนือ-ลงใต้ เตรียมพร้อมประชาชนเดินทางกลับบ้านสงกรานต์ พร้อมตรวจคืบหน้าก่อสร้างทางด่วนพระราม 2 มั่นใจเปิดใช้เต็มรูปแบบ ปลายปี 68 ขณะ “สุริยะ” ยันปลอดภัย ไม่มีของตกหล่น สั่งหยุดก่อสร้างตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้แทน สตง.แจงยิบสร้างตึก สตง. ยันเหล็ก-ปูนมีมาตรฐาน

กมธ.ติดตามงบฯ ถกโครงการสร้างตึก สตง.แห่งใหม่ ด้าน ‘ผู้แทน สตง.’ แจงยิบปรับสัญญาถึง 14 มิ.ย.นี้ ทั้งที่การสร้างต้องเสร็จ 31 ธ.ค.66 ยัน เหล็ก-ปูนมีมาตรฐาน ลั่นเดินหน้าสร้างต่อ แต่ปรับรูปแบบไม่สูง-ทับที่ตึกเก่า ใช้งบที่เหลือสร้าง