กรมอุตุนิยมวิทยา 2 เม.ย.-กรมอุตุฯ เตือนไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นถึงวันที่ 5 เม.ย.63 โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่า กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ขอประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ขณะที่ กทม.-ปริมณฑล อากาศร้อนในตอนกลางวัน ฝนฟ้าคะนอง 10% ของพื้นที่
กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 5 เมษายน 2563)” ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 02 เมษายน 2563 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้
• ในช่วงวันที่ 2-3 เมษายน 2563
ภาคเหนือ : จังหวัดน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
• ในช่วงวันที่ 4-5 เมษายน 2563
ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี และพระนครศรีอยุธยา
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาว และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น
ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประกาศ ณ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2563 เวลา 05.00 น.
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส
ฝุ่นละอองในระยะนี้ ลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีกำลังแรง ทำให้การสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันยังคงน้อย ส่วนภาคเหนือตอนบนอากาศลอยตัวขึ้นได้ไม่ดีในตอนเช้า เกิดการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันมาก ส่วนมากทางตอนบนของภาค.-สำนักข่าวไทย