สธ.19มี.ค.-“อนุทิน” ย้ำขอประชาชนร่วมใจต้านโควิด-19 เผยเตรียมนำผล กำไร อภ.มาใช้ในการควบคุมโควิด-19 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำทิศทางการควบคุมโรคของไทยมาถูกทาง ใช้วิธีหน่วงโรค ชะลอการระบาดโควิด -19 เพราะไทยกำลังเผชิญการระบาดแบบคลื่นระลอก 2 จากยุโรป ย้ำขอให้ร่วมกันอดทน เลี่ยงไปสถานที่เสี่ยง อยู่ในระยะห่าง 1 เมตร เพื่อความปลอดภัยแค่ 2-3 เดือน พร้อมห่วงคนแก่อายุมากกว่า 55 ปี ติดโรคง่าย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ,นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ พร้อมด้วย นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.ไพจิตร์ วราชิต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการควบคุมแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ว่า การเชิญผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมากระทรวงสาธารณสุข ก็ขอให้เข้าใจในสถานการณ์ ที่เป็นอยู่ และขอให้ประชาชนร่วมมือกัน การควบคุมป้องกันโรคเพื่อผ่านวิกฤตโควิด -19 ไปด้วยกัน
พร้อมกันนี้รัฐบาลยกเว้นให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไม่ต้องนำเงินปันผล อภ.2,000 ล้านบาท ส่งคืนรัฐบาล แต่ให้นำเงินส่วนนี้ไปจัดซื้อ ทุกสิ่งที่จำเป็นในการควบคุมโรคโควิด-19 หากทุกคนเคร่งครัด เว้นระยะห่างสังคมอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร ก็จะช่วยชะลอการติดต่อของโรคได้โดยไม่ต้อง ปิดประเทศ ย้ำกินร้อน ช้อนกู ต่างคนต่างอยู่ห่างกู 2 เมตร ปลอดภัยแน่นอน
นายอนุทิน ยังกล่าวอีกว่า ได้รับการติดต่อจาก แจ็ค หม่า เจ้าของ Alibaba อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของประเทศจีน ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ก่อนหน้านี้ดูแลคนจีนที่มาป่วยด้วยโรคโควิด -19 ในประเทศไทย พร้อมแจ้งความประสงค์จะส่งหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ ให้ทีมแพทย์ไทยสนับสนุนการรับมือโควิด-19 แต่ในนามรัฐบาลไทยปฏิเสธขอรับการสนับสนุนฟรี แต่เปลี่ยนเป็นขอใช้เครือข่ายความร่วมมือของแจ็ค หม่า ช่วยประสานบริษัทผลิตหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันต่างๆให้ขายตรงแก่ประเทศไทยตามจำนวนที่ต้องการแทนเพื่อความยั่งยืน
ส่วนกรณีนักวิชาการเสนอปิดประเทศ 21 วันนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องดีที่มีความเห็นต่าง วันนี้ทุกคนจะเห็นได้ว่าสำนักงานการบินออกมาตรการให้การเดินทางเข้ามาในประเทศไทยยากยิ่งขึ้น ก่อนซื้อตั๋วเครื่องบิน ต้องมีใบรับรองแพทย์ 72 ชั่วโมงหรือ 3 วันและมีประกันสุขภาพ 1แสนเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯถึงจะมาไทยได้ และต้องกักตัว 14 วัน เพื่อลดจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศไทยให้มากที่สุด
นพ.ยง กล่าวว่า การควบคุม ต่อสู้กับโรคระบาดต้องอาศัย ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังพยายามกดและคุมโรคเอาไว้ เพื่อชะลอให้เกิดความพร้อมในด้านทรัพยากรต่างๆ ทั้งยารักษา อุปกรณ์ทางการแพทย์และเตียง เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆกันอยากแก่การจัดการควบคุม ความรุนแรงของโรคนี้ ผู้ป่วยร้อยละ80 มีอาการน้อยมาก ร้อยละ 10 สามารถเดินเหินได้สบาย ขณะเดียวกันร้อยละ4 มีอาการวิกฤต ต้องรับการรักษาที่ห้องไอซียู โดยกลุ่มเหล่านี้มักเป็นผู้สูงอายุ มากกว่า 55 ปีขึ้น มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิต มีอัตราเสี่ยงสูง
ขณะเดียวกันพบว่าการจำแนกอายุของผู้ป่วยก็มีผลกับการให้ยา โดยที่จีนและอิตาลีตรงกัน ในคนสูงอายุอาการรุนแรง แต่ในเด็กพบว่าร่างกายกลับแข็งแรงกว่ามีอาการไม่มาก กรณีติดโควิต-19 อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ใช้ยาธรรมดา ฉะนั้น สังคมต้องร่วมกันและช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า กลไกการรับมือกับโรคโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินในขณะนี้ คือการหน่วงโรค หรือชะลอโรคให้เกิดน้อยที่สุด ก่อนที่พบผู้ป่วยจำนวนมากกว่านี้ กลไกการควบคุมโรค มีตั้งแต่ 1.ไม่ทำอะไร ปล่อยให้โรคดำเนิน จนร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเอง ซึ่งก็มีบางประเทศทำอยู่ 2.การหน่วงโรค ก็เหมือนกับการทำฝายน้ำ ไม่ให้น้ำจำนวนมากไหลทะลักออกมาแบบตูมเดียว ซึ่งประเทศไทยกำลังทำอยู่ และ 3. ปิดประเทศ ป้องกันโรค ซึ่งก็ดำเนินการไม่ได้นาน เพราะท้ายที่สุด ทุกคนก็ต้องป่วยอยู่ดี
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า การหน่วงโรคที่กำลังทำอยู่นี้ต้องใช้เวลา ความร่วมมือและมีวินัยของประชาชน ร่วมมือกันลดกิจกรรมเสี่ยงไปในสถานที่แออัด ไม่ออกไปข้างนอกในที่มีคนจำนวนมาก ขอให้อดทนไปก่อนสัก 2 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือน เชื่อว่าขณะนี้มาตรการของไทย มาถูกทิศถูกทางแล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าโรคนี้เป็นโรคอุบัติเหตุใหม่ ไม่มีอะไรแน่นอน ผู้เชี่ยวชาญ ทุกคนต้องมีการประเมินทุกๆ 2 สัปดาห์ ว่าทิศทางที่ดำเนินการอยู่ถูกต้องหรือไม่ การหน่วงโรคที่ดำเนินการอยู่ก็เพื่อให้ประเทศมีความพร้อมทั้งยา เวชภัณฑ์ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโรค เพราะวัคซีนยังคงอีกนาน ไม่ใช่เร็วๆนี้ สิ่งสำคัญในขณะนี้ เชื่อว่าคนไทยเกินครึ่งมีความตื่นตัวในโรคนี้ แต่ขณะนี้รอเพียงการมีวินัยและความรับผิดชอบ ส่วนตัวเท่านั้น
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า หากทุกคนมีระยะห่างที่เหมาะสมอย่างน้อย 1 เมตร หรือ 6 ฟุตก็จะช่วยลดการแพร่โรคที่เกิดจากละอองฝอย ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย กลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบางในโรคนี้ยังเป็นคนสูงอายุ 55 ปีขึ้นไป พร้อมกล่าวว่า อยากให้ประชาชนเข้าในในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เดิมไทยเผชิญการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกจากจีน ตอนนี้เป็นคลื่นระลอกใหม่ตีกลับจากยุโรป ฉะนั้นขอให้ช่วงนี้คนไทย อดทนไปก่อน แค่ 2-3 เดือนเท่านั้น เพื่อให้สถานการณ์โรคไม่รุนแรง .-สำนักข่าวไทย