กระทรวงแรงงาน 18 มี.ค.-สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หารือกระทรวงแรงงานขอพักชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากธุรกิจได้รับผลกระทบหนัก และต้องอุ้มลูกจ้างกว่าล้านคนจากพิษโควิด-19 ขณะที่กระทรวงให้นายจ้างช่วยลูกจ้างที่สถานบริการปิด14วัน
นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) และคณะกรรมการสภาฯ ประชุมร่วมกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยทางสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย ได้ยื่นข้อเสนอขอพักชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เนื่องจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในเครือข่ายประมาณ 300-400 แห่งซึ่งมีลูกจ้างนับล้านคนได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ นับตั้งแต่ประเทศจีนเผชิญกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตสินค้า ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถส่งออกสินค้าที่ผลิตได้ ไปยังประเทศคู่ค้าปลายทาง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีการระบาด เช่น สหรัฐอเมริกา
ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการอยู่ภาวะแบกรับภาระต้นทุนและต้องพยุงสถานการณ์การจ้างงานให้ลูกจ้างยังคงมีงานทำต่อไปให้นานที่สุด โดยได้ปรับลดจำนวนวันทำงาน ให้ใช้วันลาพักผ่อนเพื่อยืดเวลาในการเลิกจ้างงานให้นานที่สุด และให้กำลังใจรัฐบาลเร่งควบคุมสถานการณ์การระบาด และงดวันหยุดสงกรานต์ตามนโยบายรัฐบาล
ขณะที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม ได้รับทราบข้อเดือดร้อนและข้อเสนอของสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และมอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งมีคณะกรรมการจาก 3 ฝ่ายหรือไตรภาคี ประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ มาหารือ พิจารณาข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะประชุมได้ในวันศุกร์ ที่ 20 มีนาคมนี้ และจะพยายามสรุปข้อเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ในวันอังคารหน้า
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาเห็นชอบปรับลดอัตราเงินสมทบให้กับนายจ้างและผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39 จากปัจจุบันจ่ายร้อยละ5 ของค่าจ้าง ลดเหลือร้อยละ 4 ระยะ เวลา 6 เดือน นับตั้งแต่งวดค่าจ้าง ประจำเดือนมีนาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับลูกจ้างและนายจ้างผู้ประกันตน
ส่วนการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการในข่ายต้องปิดชั่วคราวเป็นเวลา 14 วัน ในเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในขอบเขตของกฎหมายนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างระหว่างประกาศหยุดงานร้อยละ 70 ของค่าจ้างสุดท้าย.-สำนักข่าวไทย