กรุงเทพฯ 12 มี.ค. – กกพ.เดินหน้าเริ่มคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าภายในเดือน มี.ค. 63 เตรียมออกหลักเกณฑ์ กลุ่มชื่อเจ้าของตรงกับมิเตอร์ได้คืนก่อน กลุ่มติดหนี้หรือชื่อไม่ตรงมิเตอร์จะเป็นรอบถัดไป กระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนผู้ขอมิเตอร์ใหม่ไม่ต้องจ่ายประกันจ่ายเพียงค่าตรวจไฟฟ้า 700 บาท
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ. คาดว่าการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะเริ่มทยอยคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยพิจารณาจากกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติพร้อมก่อน คือชื่อเจ้าของตรงกับมิเตอร์ ส่วนผู้ที่ติดหนี้ค่าไฟฟ้า หรือกรณีเจ้าของมิเตอร์ปัจจุบันไม่ตรงกับชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ เช่น ผู้ซื้อบ้าน คอนโดมิเนียมมือ 2 ผู้รับมรดกจากผู้เสียชีวิต ที่ยังไม่โอนหรือไม่เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าของใหม่ ในส่วนนี้ต้องเปิดให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายชื่อก่อนป้องกันการฟ้องร้องที่จะตาม
“พรุ่งนี้ สกพ.จะหารือ กับ 2 การไฟฟ้า ว่าจะคืนค่าประกันฯ อย่างไร แนวโน้มน่าจะคืนเป็นเงินสด ซึ่งก็มีข้อเสนอคืนในบิลค่าไฟฟ้าด้วย แต่จะมีปัญหาในกรณีผู้เช่า ซึ่งต้องดูให้รอบคอบ” นายคมกฤช กล่าว
สำหรับการคืนค่าประกันฯ จะทยอยคืนให้ครอบคลุมประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 คือ ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 ผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก รวมประมาณ 21.5 ล้านรายทั่วประเทศ คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งการคืนนั้นเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่หวังว่าจะมีเม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้น คาดว่าจะเร่งออกหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ได้ภายในเดือนนี้
นายประเทศ ศรีชมภู รองเลขาธิการ สกพ. กล่าวว่า การคืนค่าประกันจะเป็นไปตามขนาดแอมป์ของมิเตอร์ มีทั้งอัตราเก่าและใหม่ โดยอัตราใหม่ในส่วนของครัวเรือนขนาด 5, 15, 30 แอมป์ ได้คืน 300 บาท 2,000บาท และ 4,000 บาท ตามลำดับ ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็กค่าประกันอยู่ที่ 6,000-8,000 บาท หากแยก ผู้ที่อยู่ในเขต กฟน. คือ กทม, สมุทรปราการ, นนทบุรี จะได้รับเงินคืน 3.89 ล้านราย วงเงิน 13,581 ล้านบาท พื้นที่ กฟภ.จะได้รับเงินคืน 19,987 ล้านบาท จำนวน 19.5 ล้านราย และสำหรับผู้ขอยื่นใช้ไฟฟ้ารายใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน สกพ.และ 2 การไฟฟ้าเห็นร่วมกันไม่ต้องจ่ายค่าประกัน โดยให้จ่ายเพียงค่าตรวจสายไฟฟ้า ซึ่ง 2 กลุ่มนี้จ่ายเพียง 700 บาท/มิเตอร์
สำหรับมาตรการการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นมาตรการล่าสุดของสำนักงาน กกพ. ซึ่งได้มีการดำเนินการเพื่อการยกระดับการคุ้มครองสิทธิ์และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทยอยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การปรับปรุงมาตรฐานสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย การปรับปรุงมาตรฐานสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ และล่าสุดมาตรการคืนเงิน ดอกผลจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่มีผลบังคับใช้ และเริ่มคืนดอกผลผ่านส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย