กรุงเทพฯ 12 มี.ค. – รมว.เกษตรฯ กำชับกรมส่งเสริมการเกษตรติดตามแก้ไขปัญหาภัยแล้งเร่งด่วน พร้อมตั้ง WARROOM ดำเนิน 8 มาตรการสำคัญ โดยเฉพาะเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 หลายพื้นที่อาจมีผลกระทบรุนแรงขึ้น
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ศูนย์ภัยพิบัติและแก้ปัญหาด้านการเกษตรประเมินว่าช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมนั้น สถานการณ์ภัยแล้งอาจทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากฤดูฝนปี 2562 มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 12 ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติมีน้อย ประกอบกับปัจจุบันปริมาณน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำมีเพียงร้อยละ 22 ของความจุรวมทั้งหมด ทำให้พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ พื้นที่ปลูกไม้ผลนอกเขตชลประทานมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 30 จังหวัด ประมาณ 370,000 ไร่ รวมถึงพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ อาจได้รับผลกระทบให้เกิดความเสียหายเช่นกัน นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 จึงกำชับทุกหน่วยงานติดตามเฝ้าระวังการใช้น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินมาตรการเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง โดยมี 8 มาตรการหลักได้แก่ เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกพื้นที่สวน ประชาสัมพันธ์ “เกษตรร่วมใจรับมือภัยแล้ง ปี 2563”, ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ส่งเสริมปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง บูรณาการโครงการส่งเสริมการสร้างรายได้แก่เกษตรกร จัดกิจกรรมงานวันสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยี และการให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ พร้อมกันนี้ให้จัดตั้งศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตรทั้งในระดับกรม เขต และจังหวัดเพื่อติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติดูแลรักษาพืช โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูแล้งนี้
นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กำชับสำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรทั้ง 6 เขต และสำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างเคร่งครัดแล้วรายงานต่อศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร เพื่อกำหนดแก้ไขปัญหาและเตรียมพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน
สิ่งสำคัญที่ รมว. เกษตรฯ กำชับ คือ ให้ข้อมูล/ความรู้/ข้อปฏิบัติ/คำแนะนำในการดูแลรักษาผลผลิตและชนิดพืชที่เกษตรกรเพาะปลูกตลอดช่วงฤดูแล้ง การให้น้ำพืชที่เหมาะสม พร้อมขอความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าผ่านสื่อ/ช่องทางต่าง ๆ เป็นต้น สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาน้ำ เพื่อการเกษตรผ่านกลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรระดับจังหวัด (CoO) และระดับอำเภอ (OT) รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรกรณีประสบภัยพิบัติด้วย.-สำนักข่าวไทย