กรุงเทพฯ 4 มี.ค. – กกร. ลดจีดีพีเหลือโต 1.5 – 2% ภายใต้สมมุติฐานว่า ปัญหาไวรัสโควิดระบาดทั้งในจีนและนอกจีน จะคลี่คลายและผ่านจุดสูงสุดกลางปีนี้ และธุรกิจจะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ไตรมาสสุดท้ายของปี
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แถลงภายหลังการประชุมว่า กกร.ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี ปี 2563 ลดลงเหลือขยายตัวเพียง 1.5-2.0% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.0-2.5% ขณะที่ยังคงประมาณการการส่งออกและเงินเฟ้อไว้ตามเดิม -2% ถึง 0% การปรับลดจีดีพีต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 3 นี้ ถือเป็นครั้งแรกของกกร. หลังจากที่ได้ทยอยปรับลดมาตั้งแต่เดือนม.ค.63 จากที่ปกติจะทำการประเมินในรอบทุกๆ 3 เดือน โดยตัวเลขปรับใหม่นี้ ทำภายใต้สมมติฐานที่คาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ทั้งในจีนและนอกจีนจะผ่านจุดสูงสุดได้ภายในกลางปีนี้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี แม้ว่าขณะนี้ภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการเพื่อประคองเศรษฐกิจ แต่เมื่อได้ประเมินแล้วคาดว่า ผลกระตุ้นจากมาตรการฯ อาจจะไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ที่ขยายเป็นวงกว้างทั้งต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมได้
ทาง กกร.มองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะคลี่คลายเมื่อใด เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2563 โดยผลทางตรงจาก COVID-19 นอกจากกระทบภาคการค้าและการผลิตที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกแล้ว ยังกดดันภาคการบริการอย่างการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้หยุดชะงักลง ส่งผลกระทบทางอ้อมมายังภาคธุรกิจต่างๆ ให้มีการลดการจ้างงาน/ปิดกิจการ ซ้ำเติมประเด็นด้านกำลังซื้อของครัวเรือนที่เดิมก็อยู่ในภาวะที่เปราะบางจากหลายปัจจัยลบอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงด้วย
และจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2563 ที่เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวลงในแทบทุกรายการ ที่ประชุม กกร. คาดว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน 2563 เครื่องชี้ต่างๆ น่าจะยิ่งสะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ทิศทางเศรษฐกิจหลังจากนั้น คงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยเป็นสำคัญ ซึ่งหากจำนวนผู้ติดเชื้อผ่านจุดสูงสุดไป เหตุการณ์ต่างๆ น่าจะทยอยคลี่คลายได้
ทั้งนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจและภาคธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤต COVID-19 เฉพาะหน้านี้ไปได้ กกร. คาดหวังให้ภาครัฐออกมาตรการทั้งด้านการคลังและด้านการเงินอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการลดภาระค่าใช้จ่ายและเติมสภาพคล่องให้กับธุรกิจต่างๆ โดย 3 สมาคมที่เป็นตัวแทนของกกร. จะได้นำข้อเสนอแนะภาคเอกชนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่จะมีการประชุมในวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.63 นี้ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเตรียมการรับมืออย่างเพียงพอสำหรับความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทย
นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ กกร. เห็นว่า สำคัญมากคือ ภาครัฐควรมีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนหรือ กรอ.ส่วนกลาง เพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และเอกชนจะได้เสนอเรื่องที่เป็นความต้องการของเอกชนต่อรัฐบาลได้โดยตรง ซึ่งเรื่องการมีกรอ.ส่วนกลางนี้ เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนเคยขอไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ภาคเอกชนห่วงมากที่สุดคือ ปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบตามมาต่อเนื่องในหลายภาคส่วนเรื่องนี้จะต้องได้รับการดูแลเร่งแก้ไขอย่างดีที่สุดเพื่อให้ผลกระทบมีน้อยที่สุด อีกปัญหาที่ยังคงกังวลอยู่คือ สงครามการค้าแม้ว่าช่วงนี้จะคลี่คลายลงไปบ้าง ส่วนการเมืองในประเทศก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กกร.ให้ความสนใจติดตามสถานการณ์อยู่สำหรับเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)นั้น เรื่องนี้ภาคเอกชนต้องการให้มีผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่ง โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ มีความสามารถ ซึ่งภาพลักษณ์ของครม.จะขึ้นกับการได้บุคคลที่เข้ามาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การปรับคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณา.-สำนักข่าวไทย