รัฐสภา 6 ก.พ.-สภาพิจารณาญัตติตั้ง กมธ.ป้องกันรัฐประหาร “ปิยบุตร” เสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญา ให้ประชาชนเป็นผู้เสียหาย แก้ รธน. ไม่ให้องค์กรตุลาการยอมรับคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้(6ก.พ.)นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ามีระเบียบวาระค้างอยู่ 116 เรื่อง โดยเริ่มด้วยการพิจารณาญัตติของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต
ก่อนการเข้าสู่การพิจารณาญัตติ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย หารือว่าญัตติที่กำลังจะพิจารณามีความสำคัญ เป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชน จึงอยากให้เปิดอภิปรายโดยไม่กำหนดกรอบเวลา ขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรยืนยันว่า ผู้อภิปรายจะได้เวลาคนละไม่เกิน 10 นาที แต่ผู้เสนอญัตติสามารถอภิปรายได้ไม่มีกำหนดเวลา แต่ก็ขอให้คำนึงถึงตลอดเวลาด้วย
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะผู้เสนอญัตติ ชี้แจงว่า ญัตตินี้เสนอตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2562 โดยมีสาระสำคัญเนื่องจากความไม่แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 จะถูกฉีกอีกครั้ง เพราะในอดีตที่ผ่านมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับถูกฉีก หากยังไม่สามารถหามาตรการหรือแนวทางป้องกันการรัฐประหารที่ถูกต้องเหมาะสมได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารได้ตลอดเวลา จึงเป็นที่มาให้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เข้าชื่อเสนอญัตตินี้ พร้อมย้ำว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายใดหรือการกระทำใดที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะใช้บังคับมิได้
นายปิยบุตร ย้ำว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 เขียนไว้ว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักร แบ่งแยกการปกครองส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ชัดเจนว่ากฎหมายทั้งในระดับรัฐธรรมนูญและระดับประมวลกฎหมายอาญาเขียนบัญญัติไว้ แต่ทำไมในทางความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยกลับมีรัฐประหารที่ทำสำเร็จเกิดขึ้นหลายครั้ง พร้อมยืนยันว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการปราบโกง แต่เป็นการเปิดให้คณะนายทหารเข้ามายึดอำนาจและทำการทุจริตคอรัปชั่น ท้ายที่สุดก็ปราบโกงไม่สำเร็จและเกิดการคอรัปชั่นรูปแบบใหม่ๆ ไม่สามารถตรวจสอบได้ แล้วสุดท้ายก็จะออกเขียนในรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมการกระทำของตัวเอง
นายปิยบุตร เสนอให้แก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113/1 เสนอให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายในคดีความผิดกบฏในราชอาณาจักร เพื่อไม่ให้ศาลอ้างว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย ซึ่งหากมีการยึดอำนาจตนเองก็จะเดินทางไปฟ้องศาลแน่นอน และศาลต้องรับไว้วินิจฉัย เนื่องจากถือว่าประชาชนเป็นผู้เสียหาย และเสนอให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า ห้ามมิให้องค์กรตุลาการยอมรับการยึดอำนาจรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ รวมถึงรัฐธรรมนูญควรรับรองสิทธิและเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ในการต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งในรัฐธรรมนูญของประเทศกรีซ ถือว่าคดีรัฐประหารเป็นคดีอาญาที่ไม่มีอายุความ พร้อมเสนอให้ประเทศไทยยอมรับสัตยาบันกรุงโรม อยู่ภายใต้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ผู้ที่จะก่อการรัฐประหารรู้จักยับยั้งชั่งใจ
นายปิยบุตร กล่าวว่า ทั้งการปฏิรูปกองทัพ มาตรการทางกฎหมาย มาตราการทางการเมือง และมาตรการทางการต่างประเทศ เป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นต่อการยับยั้งการรัฐประหารในอนาคต ที่สำคัญที่สุดคือการปลูกฝังความคิด หากประชาชน ข้าราชการ สื่อมวลชน พร้อมใจกันต่อต้าน เชื่อว่าการรัฐประหารก็จะไม่มีวันสำเร็จ ก็ขจัดความคิดว่ารัฐประหารคือยาวิเศษ คือเรื่องปกติในสังคมไทย จึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต เพื่อแสดงจุดยืน ส.ส. เริ่มต้นการป้องกันไม่ให้การรัฐประหารเกิดขึ้นอีก
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาติ อภิปรายชี้ว่า ปัญหาสำคัญในการรัฐประหาร เพราะผู้ทำรัฐประหารได้อำนาจ เห็นได้จากผู้ทำรัฐประหารในอดีต เมื่อหมดอำนาจไปต่างร่ำรวยมหาศาล ทั้งๆที่อำนาจนี้เป็นของประชาชน อีกทั้งผลเสียจากการรัฐประหารที่สำคัญ คือการไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ เกิดผลกระทบอย่างมากทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เป็นการฉุดรั้งความเจริญของประเทศ ดังนั้นแนวคิดที่จะป้องกันการรัฐประหารในอนาคต คือการศึกษาหาแนวทางป้องกันการรัฐประหาร สร้างทหารอาชีพ ไม่ใช่ทหารการเมืองเพื่อขึ้นมาทำหน้าที่ปกป้องประเทศ ไม่ใช่เข้ามาทำหน้าที่ยึดอำนาจ ยกระดับคุณภาพทหารชั้นผู้น้อยให้มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ ปลูกฝังให้ทหารเป็นคนอุทิศตน มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ปลูกฝังให้ทหารเข้ามาแสวงหาอำนาจต้องการเป็นรัฐมนตรี หรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานสำคัญๆ และคอยสืบทอดอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง
ด้านส.ส.ฝ่ายรัฐบาลส่วนใหญ่ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการฯ อาทิ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า แม้รัฐธรรมนูญเขียนห้ามแล้ว แต่สุดท้ายการรัฐประหารก็เกิดขึ้น ซึ่งทางแก้ไขคือต้องรู้จักวัฒนธรรมการเมืองไทย เพราะการรัฐประหารสำเร็จได้ เนื่องจากบรรยากาศทางการเมือง
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เชื่อว่าไม่มีเผด็จการรูปแบบใดที่จะดีกว่าระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ เพราะการรัฐประหารเป็นเรื่องของคนบ้าอำนาจ เป็นวงจรอุบาทว์ เป็นนิสัยอันถาวรหรือสันดาน ส่วนนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ชี้ว่าการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 เห็นแล้วว่าประชาชนให้การยอมรับการยึดอำนาจ เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในจุดที่ไม่สามารถเดินต่อไปได้ จึงอยู่ที่นักการเมืองต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบรัฐสภา ไม่เปิดช่องว่างให้เกิดการรัฐประหารอีกในอนาคต และเชื่อว่าทหารยุคนี้เป็นทหารอาชีพ จะไม่เข้ามายึดอำนาจอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสมาชิก ได้อภิปรายเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ประธานในที่ประชุมกล่าวว่ามีสมาชิกต้องการอภิปรายญัตติดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงขอให้พิจารณาในการประชุมครั้งถัดต่อไป จากนั้นได้สั่งปิดการประชุมเวลา17.30น..-สำนักข่าวไทย