กรุงเทพฯ 3 ก.พ. – กระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้าโครงการหยุดเผาพื้นที่เกษตร บรรเทาผลกระทบฝุ่น PM 2.5 พร้อมส่งเสริมนำเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรทำให้เกิดมูลค่า ควบคู่การทำเกษตรยั่งยืนแบบ “วนเกษตร” เพิ่มพื้นที่สีเขียว
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืชและเศษวัสดุทำการเกษตรพื้นที่เกษตร กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ย้ำเร่งดำเนินมาตรการเชิงรุกป้องกันระงับยับยั้งและลดการเผาพื้นที่เกษตรอย่างเข้มข้นที่สุด เนื่องจากห่วงใยสุขภาพของประชาชน ตลอดจนรัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ จึงขยายขอบเขตการส่งเสริมไถกลบเผาตอซังก่อนเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่จากเดิมกำหนดเป้าหมาย 70,000 ไร่ภาคเหนือเป็นทั้งประเทศ ตลอดจะผลิตปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน 3,645 ตันแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปใช้ ซึ่งดำเนินการโดยกรมพัฒนาที่ดิน อีกทั้งจะนำข้อมูลการเกิดจุดความร้อน (Hot spot) ในพื้นที่เกษตรย้อนหลัง 5 ปีมาซ้อนทับกับข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ซึ่งมีการเผาในแปลงมากที่สุด แล้วให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่เสี่ยง ซึ่งแนวทางการทำงานจะประสานกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งให้เกษตรอำเภอร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จัดชุดปฏิบัติกา ออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุการณ์เผาในพื้นที่การเกษตร โดยมีเครือข่ายเกษตรกรของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) ตำบลเป็นหน่วยงานเฝ้าระวัง
นอกจากนี้ ยังขยายการสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาจาก 210 แห่ง เป็น 226 แห่งในจังหวัดที่ประสบปัญหารุนแรง ประกอบด้วย ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และอุตรดิตถ์ โดยเพิ่มขึ้นอีก 26 จังหวัดที่มีสถิติการเผาสูง ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร อุดรธานี กำแพงเพชร พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก มหาสารคาม ยโสธร ศรีษะเกษ สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ และอุบลราชธานี ส่วนปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตชุมชนเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเผาพื้นที่เกษตรจะดำเนินโครงการ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ พร้อมกันนี้จัดกิจกรรมรณรงค์หยุดการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างเด็ดขาดจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน และนครปฐม เพื่อเป็นต้นแบบ
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า จะสนับสนุนการทำเกษตรยั่งยืนแบบ “วนเกษตร” ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อนำร่อง 45,000 ไร่ โดยส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ป่า ไม้หายาก หรือไม้ประจำถิ่น ตลอดจนถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการนำเศษซากพืชและวัชพืชมาเพิ่มมูลค่าเช่น อัดฟางทำอาหารสัตว์ ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานชีวมวล โดยเกษตรกรมาเรียนรู้ได้ที่ ศพก.ทุกแห่งทั่วประเทศ อีกมาตรการหนึ่ง คือ การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อลดความหนาแน่นของหมอกควันและฝุ่นละอองจากการเผาและไฟป่า ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเลื่อนแผนปฏิบัติการประจำปีเร็วขึ้น จากเดิมวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 รวม 6 หน่วยได้แก่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ระยอง บุรีรัมย์ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการกับส่วนราชการอื่น ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น พร้อมกันนี้ได้ให้กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าวจัดทำข้อมูลเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืชและวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เสี่ยงซึ่งปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงานกันมาก โดยเฉพาะอ้อยโรงงานั้น เกษตรกรจะเผาเพื่อให้ตัดง่ายก่อนส่งโรงหีบทำน้ำตาล จึงประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาทรายในการป้องกันและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ พร้อมทั้งพิจารณามาตรการสร้างแรงจูงใจด้านต่าง ๆ เพื่อลดการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตรทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป.-สำนักข่าวไทย