กรุงเทพฯ 2 ก.พ. – รมว.เกษตรฯ กำชับบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ด้านกรมชลประทานระบุเตรียมผันน้ำจากจันทบุรีไปสนับสนุนระยอง ซึ่งมีทั้งอุปโภค-บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก โดยระบุว่าขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ด้านการเกษตร จ.ฉะเชิงเทรา 3 อำเภอ โดยในเขตชลประทาน ได้แก่ อ.บ้านโพธิ์และแปลงยาว ส่วนนอกเขตชลประทาน อ.บางปะกง ส่วนจังหวัดชลบุรีและระยอง แม้ยังไม่ประสบภัยแล้ง แต่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กรมชลประทานรายงานว่าร่วมมือกับทุกภาคส่วนดำเนินการระยะเร่งด่วน โดยบริษัท East Water และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สนับสนุนน้ำเข้าสู่ระบบปริมาณกว่า 20 ล้าน ลบ.ม. ด้านสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลดการใช้น้ำร้อยละ 10
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กำชับให้เตรียมมาตรการรองรับวิกฤติขาดแคลนน้ำ จ.ชลบุรีและระยอง เนื่องจากมีกิจกรรมการใช้น้ำทั้งอุปโภค-บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว โดยติดตามสภาพภูมิอากาศ ปริมาณฝน และน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อประเมินปริมาณน้ำต้นทุนทุกสัปดาห์ ประชุมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและแก้วิกฤติภัยแล้งทุก 15 วัน เพื่อประเมินสถานการณ์และปรับมาตรการรองรับ พร้อมรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดระยองและชลบุรีทราบ
สำหรับระยะยาว กรมชลประทานกำลังจะเริ่มดำเนินโครงการผันน้ำจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรีไปยังแหล่งกักเก็บน้ำจังหวัดระยอง โดยการผันน้ำจากคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ผ่านท่อส่งน้ำระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง อัตราการสูบ 5 ลบ.ม.ต่อวินาที ดำเนินการสูบผันน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝน โดยมีระยะเวลาการสูบน้ำ 5 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม 2563 ปริมาณน้ำประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังมีแผนผันน้ำจากโครงการสถานีสูบน้ำชลประทานพานทองเชื่อมต่อระบบท่อผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี เพื่อส่งน้ำดิบให้กับอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ทั้งยังลดการเกิดอุทกภัย อ.พานทองและพนัสนิคมได้อีกด้วย หากโครงการเสร็จจะสามารถสร้างความมั่นคงด้านปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำบางพระ ทั้งยังเป็นการใช้น้ำส่วนเกินในพื้นที่คลองพานทองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในการสูบผันน้ำ เนื่องจากระยะทางสั้นลง มีน้ำเพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในเขตจังหวัดชลบุรีและเศรษฐกิจโดยร่วมของประเทศ
นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การเติมน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ซึ่งระบบสูบกลับจากคลองสะพานจะดำเนินการตั้งแต่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 ปริมาณน้ำเพิ่ม 10 ล้าน ลบ.ม.และสูบผันน้ำคลองวังโตนดเติมอ่างฯ ประแสร์ 10 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จะคงเหลือน้ำรวม 48.9 ล้านลบ.ม. ส่วนการเชื่อมเส้นท่อประแสร์-คลองใหญ่กับท่อประแสร์-หนองปลาไหล ขณะนี้บริษัท East Water ช่วยเร่งรัดให้เชื่อมเสร็จและดำเนินการส่งน้ำแล้ว สำหรับกรณี กปภ.ไม่สามารถนำน้ำจากอ่างฯ คลองหลวงรัชชโลทรมาใช้ทดแทนน้ำที่ขาดจากอ่างฯ บางพระได้นั้น กรมชลประทานจะเร่งขุดลอกคลองและระบายน้ำจากอ่างฯ คลองหลวงมาที่สถานีสูบพานทองระยะทางประมาณ 60 กม. เพื่อมาเก็บในอ่างฯ บางพระ 10 ล้านลบ.ม. อีกทั้งบริษัท East water เตรียมสำรองน้ำสระเอกชน เพื่อจ่ายให้ กปภ.ชลบุรีและศรีราชาบางส่วน กปภ. ศรีราชา รับน้ำจากบริษัท East water และจากอ่างหนองค้อวันละ 30,000 ลบ.ม. และ กปภ.พัทยาใช้น้ำจากอ่างหนองปลาไหลวันละ 110,000 ลบ.ม.
“ยืนยันว่าภาคตะวันออก โดยเฉพาะฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรีจะมีน้ำใช้เพียงพอจนถึงสิ้นฤดูแล้ง แต่ต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุดตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้” นายสุชาติ กล่าว.-สำนักข่าวไทย