ขอนแก่น 31 ม.ค. – จากพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซาก ชาวชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ลุกขึ้นมาบริหารจัดการจนมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ทั้งที่ฝนแทบไม่ตกตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยการขุดคลองดักน้ำหลาก รวบและต้อนน้ำไปตามทิศทางที่ต้องการ โดยใช้ค่าระดับความสูงต่ำเป็นเครื่องมือพัฒนาโครงสร้างน้ำ
การจัดการป่าต้นน้ำ ทั้งการปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำ รักษาความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น จนได้รับรางวัลการจัดการน้ำชุมชนดีเด่นในปี 2551 ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. เป็นจุดเริ่มของการลุกขึ้นมาบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังในอีก 2 ปีต่อมา ร่วมกับ สสนก. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ บ่อหลายแห่งในพื้นที่บ้านป่าเป้ง และโนนศิลา จึงมีน้ำเหลือใช้จำนวนมาก แม้จะประสบภัยแล้งอย่างหนัก น้ำเข้ามาเติมน้อยมากตลอด 2 ปีที่ผ่านมา น้ำต้นทุนที่เห็นเกือบทั้งหมดจึงเป็นน้ำของปี 2560
พื้นที่แถบนี้เป็นที่สูงลอนคลื่น เครื่องมือวัดค่าสูงต่ำ ถูกประยุกต์นำมาพัฒนาโครงสร้างน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ น้ำที่เคยหลากแบบไร้ทิศทางแล้วเหือดแห้ง เพราะไม่มีการกักเก็บ คลองดักน้ำหลากจึงเกิดขึ้น เพื่อรวบและต้อนน้ำไปตามทิศทางที่ต้องการ เมื่อล้นฝายจะไหลไปยังจุดกระจายน้ำ 3 ทิศทาง ซึ่งเป็นพื้นที่สูง ใช้แรงโน้มถ่วงส่งต่อจุดประจำไร่นา และแก้มลิง โดยไม่ต้องพึ่งระบบสูบน้ำ เพียงเปิดปิดวาล์ว จัดลำดับการใช้น้ำเท่านั้น
เมื่อมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี วิถีเกษตรเชิงเดี่ยวจึงเปลี่ยนเป็นเกษตรผสมผสานเกือบ 70 ครัวเรือน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 20 เท่า กว่า 12 ล้านบาทต่อปี
ชาวบ้านแถบนี้อยู่ในสภาพฝนดี 2 ปี แล้งติดต่อกัน 4 ปี ก่อนลุกขึ้นมาบริหารจัดการ น้ำต้นทุนใช้หมดปีต่อปี เมื่อนวัตกรรมกักเก็บน้ำข้ามแล้ง 4 ปี ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จึงขยายผลไปยัง 9 จังหวัดลุ่มน้ำชี บรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ราว 200,000 ไร่ต่อปี. – สำนักข่าวไทย