บัญญัติเสนอ 3 ประเด็นเป็นกรอบศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รัฐสภา 24 ม.ค.- “บัญญัติ บรรทัดฐาน” เสนอ 3 ประเด็น “สิทธิประโยชน์-การเมือง การปกครอง-ม.256” เป็นกรอบศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ มั่นใจศึกษาเสร็จภายใน 120 วัน หากทำไม่เสร็จจะถูกสังคมกล่าวหาซื้อเวลา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณากรอบการทำงานและกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ภายหลังกมธ.วิสามัญฯ หลายคนได้แสดงความคิดเห็นว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีความล่าช้า

นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย อภิปรายท้วงติงว่า ถึงเวลาแล้วที่กรรมาธิการฯ ต้องกำหนดแนวทางการทำงานที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมา มีแต่การแสดงความคิดเห็นกันไปมาระหว่างกรรมาธิการฯ เท่านั้น เช่นเดียวกับ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ กมธ.จากพรรคเพื่อไทย เสนอว่า กมธ.ต้องเพิ่มวันประชุมจากเดิมที่มีเพียงหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ซึ่งนายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กรอบการทำงานได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการแล้ว ส่วนเรื่องการเพิ่มวันประชุมส่วนตัวไม่ได้ขัดข้อง แต่ขอให้ทุกคนอยู่ประชุมด้วย


ต่อมาเป็นการเสนอรายงานความคืบหน้าในการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ มีความคิดเห็นแล้วว่าจะนำประเด็นว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 มาพิจารณาเป็นประเด็นแรก และจะเร่งส่งผลการศึกษาให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในการประชุมครั้งต่อไป เบื้องต้นสำหรับภาพรวมของข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คณะอนุกรรมาธิการฯได้รวบรวมจากการแสดงความคิดเห็นของส.ส.ในที่ประชุมสภาฯ และกมธ.วิสามัญฯสรุปได้ว่ามีทั้งสิ้น 32 ประเด็น และ 11 มาตรา

จากนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายบัญญัติ  บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรตั้งสองประเด็น 1.ความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมายถึงโอกาสจะได้รับความร่วมมือและการต่อต้าน และ 2.ระยะเวลา ถ้าแก้ไขได้เร็วมากที่สุดเท่าไหร่ก็เป็นประโยชน์มากเท่านั้น เพราะหลายเรื่องคงรอสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่ได้แล้ว

นายบัญญัติ กล่าวว่า แนวทางการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรตั้งเป็นประเด็นจำนวน 3 เรื่อง คือ 1.สิทธิประโยชน์ในรัฐธรรมนูญที่ควรได้รับการแก้ไข โดยเมื่อนำรัฐธรรมนูญ 2560 เทียบกับปี 2540 หรือ 2550 เห็นชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้อยกว่ามาก ดังนั้น ควรมาดูว่าประเด็นไหนที่ปัจจุบันด้อยกว่าก็ให้กลับไปใช้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญในอดีตแทน  2.การเมืองการปกครอง อย่างระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งหลายคนอึดอัดเป็นอย่างมาก และปัญหาที่เกิดมาจากการบังคับใช้มีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การคำนวณจำนวนส.ส.พึงมี เป็นต้น และ 3.มาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมานั้นครั้งนี้แก้ยากที่สุดเหมือนไม่อยากให้มีการแก้ไข  เพราะถ้าเรามองลงลึกไปในมาตรา 256 แทนที่ฝ่ายเสียงข้างมากจะเป็นฝ่ายกำหนดตามแนวทางประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่าฝ่ายข้างน้อยเป็นฝ่ายกำหนด อย่างนี้เราจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร ดังนั้น เรื่องมาตรา 256 เพียงแต่นำเอารัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณาแล้วกลับมาใช้หลักการเดิม คือ เสียงข้างมาก 2ใน 3 หรือ 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน 


“ถ้าเราเอากรอบทั้ง 3 ข้อนี้เป็นตัวตั้ง ผมมั่นใจว่า กมธ.วิสามัญฯ จะใช้เวลาทำงาน  120 วันตามกำหนดก็เพียงพอ เพราะขณะนี้สังคมว้าเหว่ หาก 120 วันแล้วเรายังทำไม่เสร็จ ก็จะเป็นอันตราย สังคมจะคิดว่าเราไม่เอาจริง ทำงานเพียงแค่ซื้อเวลากันไปวัน ๆ ความขัดแย้งที่มีอยู่ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น นี่คือภารกิจของเราที่ต้องทำให้เสร็จ ” นายบัญญัติ กล่าว 

ภายหลังจากที่นายบัญญัติ แสดงความเห็นแล้ว ได้มีกมธ.วิสามัญฯ ในซีกฝ่ายค้านอภิปรายสนับสนุน เช่น นายชัยเกษม นิติสิริ กมธ.วิสามัญฯ สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ การแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 255 และ 256 เพราะถ้าแก้ไขตรงนี้ไม่สำเร็จก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ส่วนเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.เป็นเรื่องระยะยาว

ขณะที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช กมธ.วิสามัญฯ สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การรณรงค์เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้เป็นบรรยากาศของการเลือกข้างและระบบไอโอ หรือ การปฏิบัติเชิงข่าวสารที่ซับซ้อนมาก ไม่เหมือนกับบรรยากาศตอนเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 โดยเฉพาะมาตรา 256 ที่ต้องใช้เสียงข้างมากและเสียงของ ส.ว.มารวมกัน และทำประชามติ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกขั้นตอนมีหลุมพรางเต็มไปหมด ดังนั้น เชื่อว่าการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ใช่ว่าในห้องประชุมนี้เห็นด้วยฝ่ายเดียวไม่ได้ เราต้องคำนึงถึงเสียงสนับสนุนภายนอกด้วย

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการสืบทอดอำนาจแล้ว คนที่ครองอำนาจอยู่ปัจจุบันย่อมไม่ยอมให้แก้หรือถ้าให้แก้ไขก็จะได้แก้ไขเพียงเล็กน้อย ขณะที่อีกฝ่ายมีความต้องการให้แก้เล็กน้อย แต่อีกฝ่ายก็อยากแก้ไขใหญ่ แต่รัฐธรรมนูญปิดโอกาสในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหารมาเป็นประชาธิปไตยอย่างลาตินอเมริกาใต้ ตอนแรกก็มีการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย แต่สุดท้ายก็สามารถเปลี่ยนผ่านได้ด้วยการเจรจาโดยทหารตัดสินใจออกจากอำนาจ หรือพม่าที่ถูกกดดันจากต่างชาติ สุดท้ายก็ยอมลงจากอำนาจและสามารถพัฒนาได้

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้กลับไปใช้ระบบเสียงข้างมากปกติ หรือตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ทั้งสองวิธีการนี้ เชื่อว่าผู้มีอำนาจไม่มีทางยอม เวลานี้องค์ความรู้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีมากแล้ว จึงคิดว่าเรื่องการศึกษาองค์ความรู้ใช้เวลาไม่นาน เหลือเพียงแต่เจตจำนงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ถ้านายกฯตัดสินใจเมื่อไหร่ทุกอย่างก็พร้อมหมด เรามีเวลา 120 วัน หากจบ 120 วันแล้วไม่ได้อะไรเลย ย่อมถูกติฉิน นินทา จากสังคมแน่นอน อย่างน้อยที่สุด กมธ.วิสามัญฯต้องมีความเห็นว่ากระบวนการแก้ไขควรมีวิธีอย่างไร” นายปิยบุตร กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กมธ.วิสามัญฯไม่ได้มีหน้าที่ไปศึกษารัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา แต่เป็นการศึกษาในภาพรวม และเสนอเป็นกรอบความคิดเห็นต่อที่ประชุมสภาฯ ต่อไป ทั้งนี้มั่นใจว่ากมธ.วิสามัญฯจะพิจารณาเสร็จทันกรอบ 120 วันแน่นอน

ขณะที่ นายอุดม รัฐอมฤต กรรมาธิการวิสามัญฯสัดส่วนคณะรัฐมนตรีและอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงเจตนารมณ์ของมาตรา 256 ว่า ที่ประชุมกมธ.วิสามัญฯอาจจะยังไม่เข้าใจตรงกันเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2560ได้มีความขัดแย้งแล้ว และคนที่มานั่งทำงานตรงนี้ก็ด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ2560 สำหรับบทบัญญัติมาตรา 256 ที่มีความซับซ้อนในเรื่องการกำหนดให้มีจำนวนเสียงส.ว.ในการให้ความเห็นชอบด้วยนั้น เห็นว่า หากตัดเรื่องที่มาของส.ว. 250 คนออก ความซับซ้อนที่ว่านั้นจะลดน้อยลงไป ซึ่งเจตนารมณ์ของมาตรา 256 มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนเห็นว่า รัฐธรรมนูญ หากจะถูกแก้ไข ก็ต้องมาจากการที่เห็นว่าสมควรต้องแก้ไขจริงๆ โดยให้เสียงของทั้งสองสภาเห็นพ้องกัน ส่วนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ควรต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และให้ทุกฝ่ายรับยอมรับได้.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ศึกชิงนายก อบจ.เพชรบุรี แชมป์เก่ายังแรง

เลือกตั้งนายก อบจ.เพชรบุรี ไม่คึกคัก ผลไม่เป็นทางการ “ชัยยะ อังกินันทน์” แชมป์เก่า คะแนนนำทิ้งห่างคู่แข่ง ด้านเลขาฯ กกต. เผยภาพรวมทั้ง 3 จังหวัด คนมาใช้สิทธิน้อย คาดเบื่อเลือกตั้ง 2 รอบ

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

ลุ้นผลเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ขณะนี้การนับคะแนนตามหน่วยต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว อยู่ในขั้นตอนการรวมคะแนน ซึ่งในเขตเมือง ผลปรากฏว่าผู้สมัครจากพรรคประชาชนมีคะแนนนำ แต่อำเภอรอบนอก ตัวแทนพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำอยู่หลายหน่วยเลือกตั้ง

เร่งประสานอินเตอร์โพลขอหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ”

ตำรวจเตรียมออกหมายจับเครือข่าย “หมอบุญ” ฉ้อโกง ลอต 2 รวมทั้งเร่งประสานอินเตอร์โพล ออกหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ” กลับมาดำเนินคดี