กรุงเทพฯ 17 ม.ค. – รมว. เฉลิมชัย สั่งด่วนให้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ รายงานสถานการณ์น้ำและผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกวัน ย้ำทุกหน่วยทำแผนปฏิบัติการรับมือภัยแล้งทั่วประเทศ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการด่วนที่สุดให้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรนำเสนอสถานการณ์น้ำและการบรรเทาผลกระทบต่อปลัดกระทรวงฯ และรมว. เกษตรฯ ทุกวัน อีกทั้งให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำแผนปฏิบัติการรับมือภัยแล้งทั่วประเทศ จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ และที่สำคัญคือการแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพ เพื่อเป็นการเสริมรายได้ เป็นไปตามนโยบายศูนย์บัญชาการน้ำเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำแห่งชาติซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ทั้งนี้กรมชลประทานจะเร่งก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และแก้มลิงที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จรวม 421 โครงการ จะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,232,121 ไร่และปริมาตรเก็บกัก 942 ล้าน ลบ.ม. สำหรับงบประมาณปี 2563 จะดำเนินโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 176,968 ไร่ และปริมาตรน้ำเก็บกัก 199.54 ล้าน ลบ.ม. จากสภาพฝนมีความผันแปรสูงมากในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำท่าและน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2562 ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ ใช้น้ำเกินแผนที่ได้จัดสรรไว้ทำให้เกิดปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม ส่งผลต่อระบบนิเวศและคุณภาพน้ำด้านอุปโภค – บริโภคและเกษตรกรรม ซึ่งมีแผนผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูแล้ง ปี 2562/2563 ปริมาตร 850 ล้าน ลบ.ม.
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ความจำเป็นเร่งด่วนคือ การพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อให้มีแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น การทำแก้มลิง เพื่อให้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคในชุมชน ขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลบ.ม.ให้เกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนทั่วประเทศ 40,000 บ่อเพื่อกักเก็บน้ำ บรรเทาและชะลอความแห้งแล้ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดินในฤดูฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้งในระดับไร่นา ให้เกษตรกรสามารถมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับปลูกพืชผักแบบผสมผสานเลี้ยงปลา ตกกล้า ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย นอกจากนี้ยังให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจัดหน่วยการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว 3 ชุดพร้อมปฏิบัติการทั่วประเทศในบริเวณที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า
“ภาวะภัยแล้งเป็นปัญหาที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นในขณะนี้ โดยวางแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนและวางแผนพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำให้มีความยั่งยืนในอนาคตด้วย เข้าใจความทุกข์ยากจากภัยแล้งดีเพราะเป็นลูกเกษตรกร ดังนั้นจะไม่ทิ้งเกษตรกรและประชาชน พร้อมดูแลแก้ปัญหาอย่างเต็มกำลังและสุดความสามารถ” นายเฉลิมชัยกล่าว . – สำนักข่าวไทย