ตลท. 6 ม.ค. – FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้ลงทุน 3 เดือน ทรงตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติด ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ประเมินความขัดแย้งสหรัฐ -อิหร่านยังไม่สุกงอมถึงขั้นทำสงคราม มั่นใจไม่กระทบเศรษฐกิจไทย
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neural) เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ลดลง 8.17% มาอยู่ที่ระดับ 80.75 ถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปีและยังทรงตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวได้แย่ที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะไตรมาส 4/2562 ซึ่งนักลงทุนคาดหวังการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐบาลและการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่กลับมีความล่าช้า
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่านักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด และกังวลความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและสถานการณ์การเมือง เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการแพทย์ (HEALTH) หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค(ENERG) ขณะที่หมวดธนาคาร (BANK) ไม่น่าสนใจมากที่สุด รองลงมาคือ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA)
สำหรับเดือนธันวาคม 2562 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เคลื่อนไหวในช่วง 1,548-1,579 จุด ดัชนีปรับตัวลดลงในครึ่งเดือนแรกมาอยู่จุดต่ำสุด 1,548 จุด จากนั้นทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่บริเวณ 1,570-1,580 จุด ในช่วงปลายเดือน โดยได้รับผลดีจากผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในข้อตกลงการค้าขั้นที่ 1 ที่เป็นไปได้ด้วยดี ขณะที่นักลงทุนคาดหวังแรงซื้อ LTF ปลายปี แม้ว่าตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปี 2563 ไทยได้รับปัจจัยหนุนจากปีก่อนที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยถือว่า Underperform กับตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก และมีผลกระทบจากการการเปลี่ยนมาตรฐานบัญชี กฎหมายแรงงานทำให้บริษัทจดทะเบียนจะต้องตั้งสำรองเพิ่ม และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นผิดปกติในปีก่อน แต่ปีนี้จะไม่ต้องเผชิญกับปัจจัยเหล่านี้อีก พร้อมมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัวดีกว่าปี 2562 หลังจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีนมีทิศทางดีขึ้น โดยเริ่มเห็นการลงทุนภาคเอกชนตามมา แม้จะมีแรงกดดันจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่าน แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากนัก ส่วนตัวมองว่าความขัดแย้งนี้ยังไม่สุกงอมถึงขั้นเป็นสงครามอาจจะเป็นการทำลายสิ่งต่าง ๆ เชิงสัญลักษณ์มากกว่า ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนหันมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำกันมากขึ้น และกดดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น มั่นใจไม่กระทบเศรษฐกิจไทย ขณะที่ในไทยสัญญาณการจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมาดีขึ้นจากมาตรการของรัฐบาลที่ออกมากระตุ้นและการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2563 ไว้ที่ 1,700 จุด และบริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรสุทธิเติบโต 10%
ส่วนแนวโน้มการลงทุนส่วนใหญ่ที่นักวิเคราะห์เกือบทั้งหมดจะมองตรงกันยังคงเน้นหุ้นเกี่ยวกับกับการบริโภคภายในประเทศที่อิงกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกที่จะได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายเงิน และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม จากการเดินหน้าโครงการอีอีซี และรับประโยชน์ย้ายฐานการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการต่างชาติ ส่งผลดีต่อยอดขายที่ดินตามไปด้วย ส่วนอีก 2 กลุ่มจะเป็นหุ้นกลุ่มโรงแรมที่จะได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่คาดว่ายังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง และหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ถือเป็นกลุ่มที่ขยายตัวสอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย
ปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจจากการเจรจาทางการค้าภายหลังข้อตกลงทางการค้าขั้น 1 เป็นไปด้วยดีและแนวโน้มการเจรจาข้อตกลงทางการค้าขั้นที่ 2 ทิศทาง BREXIT ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ด้านปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม คือ การเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลปี 2563 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งออก ค่าเงินบาท สถานการณ์การเมืองในประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังคงติดติดตามอย่างใกล้ชิด . – สำนักข่าวไทย