รัฐสภา 20 ธ.ค.-สภาฯ ตั้ง กมธ.เช็กบิลปัญหาสร้างสภาใหม่ล่าช้า ส.ส.อภิปราย รุมอัดผู้รับเหมา-ออกแบบ พบปัญหาไม่ตอบสนองการใช้งานจริง วัสดุที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (20 ธ.ค.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งเป็นการประชุมนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติคงค้างจำนวน 112 ญัตติ โดยแบ่งการพิจารณาออกเป็นกลุ่ม กลุ่มแรกมี 2 ญัตติ คือเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งนายสมคิด เชื้อคง และนายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เป็นผู้เสนอ และญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า ที่นายศุภชัย ใจสมุทร และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นผู้เสนอ
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การต่อสัญญาก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่มีการขยายหลายครั้งและกำหนดเวลาไว้ 900 วัน ซึ่งต้องตรวจสอบตั้งแต่ต้น ทั้งการจัดทำทีโออาร์ การออกแบบ หรือแม้กระทั่งการก่อสร้าง จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าการออกแบบเช่นนี้เพราะหลีกเลี่ยงการประมูลหรือไม่ เนื่องจากโครงการนี้ควรเป็นโครงการที่น่าชื่นชมของประชาชน รวมทั้งงานระบบภายในอาคารต้องถูกต้องและปลอดภัยมากกว่านี้
ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ความล่าช้าในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ส่งผลต่อการใช้งบประมาณในการเช่าอาคารทีโอทีเพื่อจัดประชุมของสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งการก่อสร้างอาคารแห่งนี้ต้องใช้งบประมาณสูงกว่าสองหมื่นล้านบาท ดังนั้นการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีกจึงทำให้กระทบต่อการทำงานของสมาชิกและเจ้าหน้าที่ รวมทั้ง ระบบไอที และไฟฟ้า จึงขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เพราะมาจากภาษีของประชาชน
ด้านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างอภิปรายสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการขนย้ายดินที่ขุดจากพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาว่า มีกระบวนการและไม่ชอบมาพากล อาจจะมีการทุจริตในการนำดินดังกล่าวออกไปขายโดยไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และตามสัญญาการก่อสร้างที่ได้กำหนดไว้ในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตร
ด้านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ควรจะต้องพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การเลือกแบบอาคาร การร่างกำหนดสัญญา ความชัดเจนในการปรับปรุงแบบอาคาร การกำหนดระยะเวลาส่งมอบ ซึ่งถือว่า ไม่สมเหตุสมผลกับการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ พร้อมจะต้องตรวจสอบถึงกระบวนการก่อสร้างที่แยกสัญญาการก่อสร้าง ระหว่างระบบไอที และการก่อสร้างอาคารออกจากกัน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้รับเหมาสามารถยกเป็นเหตุในการขยายเวลาส่งมอบออกไปได้ เพราะจะต้องระบบอยากอย่างหนึ่งแล้วเสร็จจึงจะสามารถดำเนินงานได้
จากนั้น ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 354 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการ จำนวน 49 คน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานภายใน 60 วัน .- สำนักข่าวไทย