กรุงเทพฯ 16 ธ.ค. – ส.อ.ท.เร่งสรุปแนวทางขอให้ภาครัฐสนับสนุนใช้สินค้าไทย 100 เปอร์เซ็นต์ในสินค้าบางตัวที่มีคุณภาพดี เพิ่มเติมจากโครงการเมดอินไทยแลนด์ที่สนับสนุนให้ใช้สินค้าไทยอยู่แล้ว ส่วนการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐระยะแรก เชื่อจะทำให้ตลาดการค้าและเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ขอรัฐบาลเร่งเจรจาเอฟทีเอ เพื่อเปิดตลาดส่งออกใหม่
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท.วันนี้ (16 ธ.ค.) จะหยิบยกประเด็นการผลักดันให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องการใช้สินค้าที่ผลิตได้ในประเทศหรือโลคอลคอนเทนต์ สำหรับโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐ หากสินค้าใดผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศได้ ก็ควรเพิ่มสัดส่วนการใช้สินค้าไทยสูง โดยอาจถึง 100% ในสินค้าบางส่วน และเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นการเสนอต่อเนื่องจากโครงการเมดอินไทยแลนด์ที่เคยเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีกำลังใจพัฒนาสินค้าไทยให้ดียิ่งขึ้น และมีความเข้มแข็งบุกตลาดโลกต่อไป
ส่วนกรณีสหรัฐและจีนสามารถบรรลุการเจรจาการค้ารอบแรกนั้น ส่งผลดีต่อการค้าโลก เพราะการกีดกันทางการค้าด้วยมาตรการทางภาษีของสหรัฐจะลดลง ตลาดการค้าโลกจึงมีโอกาสโตขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อเจรจาที่เกิดขึ้นยังไม่ได้มีการลงนาม และยังมีกระบวนการต่อเนื่องไปอีก ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่เชื่อว่า น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกและเศรษฐกิจของไทย เพราะหากเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นการบริโภคของแต่ละประเทศก็จะเพิ่มขึ้นตาม การส่งออกของไทยก็จะมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมถึงการท่องเที่ยวก็จะปรับตัวดีขึ้น
สำหรับปัจจัยที่เป็นห่วง คือ ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ กกร. ได้แสดงความกังวลและส่งสัญญาณไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว นอกจากนี้ ยังต้องการให้ภาครัฐช่วยเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าหรือเอฟทีเอให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว เพราะเอฟทีเอ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยให้มีโอกาสเปิดตลาดส่งออกใหม่เพิ่มมากขึ้น
ด้านค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น ทาง ส.อ.ท.เห็นว่าพอรับได้ แต่ต้องการขอการสนับสนุนจากภาครัฐช่วยลดต้นทุนด้านอื่นของผู้ประกอบการ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐเดินหน้าโครงการลงทุนด้านการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการ.-สำนักข่าวไทย