กรุงเทพฯ 13 ก.ค. – ส.อ.ท.ประสานเสียงแนวคิดรัฐบาลที่จะตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 พร้อมขอมีส่วนร่วม ระบุต้องเร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ตอนนี้แย่ขาดสภาพคล่อง พร้อมหามาตรการการเงินการคลังสร้างกำลังซื้อในประเทศ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สนับสนุนรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดจัดตั้ง “ศูนย์ฟื้นฟูด้านเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหลังโควิดระบาด” พร้อมขอให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะในการทำงานของศูนย์ด้วย เช่นเดียวกับการทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพราะสามารถให้ข้อมูลและชี้เป้าหมายที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศได้ตรงจุด สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ช่วยเหลือ คือ รัฐบาลจัดมาตรการสนับสนุนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น กระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนให้ดีขึ้น เพื่อผ่อนคลายความเสียหายจากเศรษฐกิจที่ซบเซาลง ผ่านการจัดให้มีมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาผ่านมาตรการทั้งมาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านการคลัง
สำหรับสิ่งที่สภาอุตสาหกรรมฯ มีความเป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้ คือ การขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ทั้งกลุ่มผลิตสินค้าส่งออกและผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าขายในประเทศ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับท่องเที่ยว จึงต้องการให้มีการเร่งเสริมสภาพคล่องอัดฉีดด้วย ที่ผ่านมา ส.อ.ท.เคยเสนอกองทุนนวัตกรรมต่อภาครัฐไปแล้วอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกองทุนเอสเอ็มอีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ต้องการให้เร่งพิจารณา เชื่อว่าเมื่อมีศูนย์ฟื้นฟูด้านเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหลังโควิดระบาด ก็จะสามารถช่วยแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการพิจารณากองทุนที่เสนอได้เร็วยิ่งขึ้น เปรียบได้กับ ศบค.มีการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ได้รวดเร็ว
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ศูนย์ฟื้นฟูด้านเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหลังโควิดระบาดต้องมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ และตัวแทนจากภาคเอกชน ตัวแทนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง สำหรับการมีภาคเอกชนเข้าไปร่วม เพราะทราบปัญหาภาคเศรษฐกิจดี ศูนย์นี้ควรจัดตั้งยิ่งเร็วยิ่งดีและขับเคลื่อนทำงานทันที
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเป็นความคิดเห็นของภาคเอกชน ซึ่งเสนอรัฐบาล เพราะเห็นว่ารูปแบบของ ศบค.ทำงานทิศทางเดียวกัน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังจากนี้ถ้าตั้งศูนย์นี้จริงจะทำให้การทำงานต่าง ๆ จะไปอยู่ในจุดเดียวกัน หากทำรูปแบบเดิมเมื่อเอกชนเสนอต่อกระทรวง ๆ ก็เสนอต่อรัฐบาล ซึ่งมีขั้นตอนมาก หากรวมศูนย์เหมือน ศบค. ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะทำให้การทำงานต่าง ๆ การเสนอแผนแก้ไขปัญหา การติดตามปัญหา การรับรู้ปัญหา ทำให้การแก้ไขรวดเร็ว ดังนั้น สรท.อยากให้รัฐบาลตั้งศูนย์ดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เบาบางลง.-สำนักข่าวไทย