คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 7 ธ.ค.62 -นักวิชาการมอง ปัญหาที่ดิน “ปารีณา” สะท้อนความเหลื่อมล้ำการเลือกปฎิบัติระหว่างคนรวยกับคนจน แนะทางออกพิสูจน์สถานะของพื้นที่การปฎิรูปที่ดินที่แท้จริง
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายภาคสังคมจัดเสวนาหัวข้อ “ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลประยุทธ์” และ “จากปารีณา 1,700 ถึงปัญหาที่ดินของคนจน : ข้อเสนอและทางออก”
นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า กรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก)ทำหนังสืออย่างเป็นทางการให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ให้คืนที่ดินจำนวน 682 ไร่ บริเวณฟาร์มไก่ เขาสนฟาร์ม ภายใน 7 วัน หากไม่ยอมคืนจะใช้คำสั่งตามม.44 ยึดคืนทันที แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเลือกปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ระหว่างคนรายกับคนจน หากเป็นชาวบ้านไม่ได้รับโอกาสและอภิสิทธิ์เช่นนี้
โดยยกกรณีเปรียบเทียบกับชาวบ้าน ในพื้นที่บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร ที่ถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจำนวน 54 ไร่ และถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี เมื่อปี 2558 จนถึงขณะนี้ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทั้งที่ความเป็นจริงชาวบ้านคนดังกล่าว มีพื้นที่ทำกินเพียง 4 ไร่ และถูกดำเนินคดีโดยไม่มีการรังวัดที่ดินใหม่ แม้ชาวบ้านร้องขอให้มีการรังวัดไปแล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่งในพื้นที่หมู่บ้านเดียวกันถูกดำเนินคดีตัดสินจำคุกไปถึง 29 ราย ขณะที่กรณี นางสาวปารัณา ร้องขอให้มีการรังวัดที่ดินเพียงครั้งเดียว ก็มีการดำเนินการทันที
“ทางออกของปัญหาในระยะเร่งด่วน เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจน และดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าโดยไม่กระทบคนจน ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว ควรมีการพิสูจน์สถานะของพื้นที่ป่าไม้ถาวรและป่าไม้ของชาติ ตามมติ ครม. 14 พ.ย.2504 เพื่อให้ความเป็นธรรมว่ามีการอยู่มาก่อนประกาศพื้นที่ป่าหรือไม่ ต้องมีการปฎิรูปที่ดินที่แท้จริง ไม่ใช่การเอาพื้นที่ป่าสงวนมาทำเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน และสุดท้ายนโยบายทวงคืนผืนป่า ควรยกเลิกให้ทหารเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการ เนื่องจากมักมีการใช้ความรุนแรง แต่ควรเป็นการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้-อุทยานฯ และควรมีฝ่ายปกครองเข้าร่วมแก้ปัญหาด้วย”นายไชยณรงค์กล่าว.-สำนักข่าวไทย