กสศ. เผยผลวิจัย OECD พิสูจน์ชัด เด็กที่ทำคะแนน PISA ได้ดี สัมพันธ์กับประสบการณ์เรียนรู้ช่วงปฐมวัย

กรุงเทพฯ7ธ.ค..-เผยผลวิจัย OECD พิสูจน์ชัด เด็กที่ทำคะแนน PISA ได้ดี สัมพันธ์กับประสบการณ์เรียนรู้ช่วงปฐมวัย    ด้านกสศ. เผยไทยมีเด็กนอกระบบก่อนวัยเรียน ราวร้อยละ 10  เตรียมขยายทุนเสมอภาคช่วยเหลือเด็กอนุบาลในครอบครัวยากจน 1.5 แสนคน ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ต้นทาง 


 

ดร.ไกรยส  ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)กล่าวว่า จากข้อมูลการวิเคราะห์ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า เด็กปฐมวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนวัยเรียน (3-5 ปี) เป็นช่วงที่สำคัญอย่างมาก ส่งผลต่อแนวโน้มสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันเด็กนอกระบบการศึกษาในช่วงก่อนวัยเรียนยังมีสัดส่วนสูงราวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับประชากรวัยเดียวกัน ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงใน 4 ภูมิภาคพบว่า ครอบครัวที่มีฐานะยากจนซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองมีอาชีพรับจ้าง และทำงานอยู่ต่างถิ่น จะนำบุตรหลานเข้าเรียนระดับอนุบาลล่าช้าหรือไม่ได้เข้าเรียน ทำให้เด็กเหล่านี้เสี่ยงต่อการมีพัฒนาการที่ล่าช้า ไม่ทันเพื่อนตั้งแต่ชั้น ป.1 ซึ่งช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านพัฒนาการนี้หากไม่ได้รับการค้นพบ และแก้ไขได้ทันเวลา จะมีแนวโน้มแย่ลงในอนาคต จนส่งผลต่อผลการเรียน ทักษะการอ่านออกเขียนได้ และความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานในที่สุด


ดร.ไกรยส กล่าวว่า  จากสถานการณ์ดังกล่าว กสศ.และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงร่วมกันพัฒนาเครื่องมือสํารวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยหรือ School Readiness Survey (SRS) ระดับจังหวัดขึ้น เพื่อเป็นกระจกสะท้อนสถานการณ์ด้านพัฒนาการและความพร้อมของเด็กปฐมวัยก่อนเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับ (5-6ปี) ทั้งในแง่ของสถานการณ์ปัญหาเด็กยังไม่เข้าเรียนอนุบาล และระดับพัฒนาการที่สำคัญด้านต่างๆ ของเด็กวัยนี้ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจ SRS จะช่วยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ กำหนดแนวทางผลักดันให้เด็กเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย ตลอดจนสะท้อนผลลัพธ์คุณภาพการเรียนรู้ ช่วงปฐมวัยว่าได้เตรียมเด็กให้พร้อมจะก้าวเข้าสู่ประถมศึกษาเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กชายขอบ และกลุ่มเด็กด้อยโอกาสทางสังคม เช่น เด็กที่มาจากครอบครัวยากจน   

 


ดร.ไกรยส กล่าวว่า SRS จะเป็นเครื่องมือทางวิชาการและพัฒนาข้อเสนอนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยจะปิดช่องว่างปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้นเหตุและต้นทางก่อนที่เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อมีความพร้อมตั้งแต่ปฐมวัยจะช่วยให้เด็กมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียน มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จทางการศึกษา และพฤติกรรมทางบวกของเด็กในระยะยาว

“เด็กปฐมวัยถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐให้จัดการศึกษาระดับก่อนวัยเรียนให้แก่เด็กปฐมวัยอย่างเสมอภาค โดยได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 54 ให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามีบทบาทสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยในครอบครัวที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพได้จนสำเร็จการศึกษาตามศักยภาพและความถนัดของแต่ละคน

 

โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาทั้งทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย หลักฐานเชิงประจักษ์ที่นำเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศาสตราจารย์ James J. Heckman จาก University of Chicago ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมดีที่สุดในระยะยาว7-12 เท่า ซึ่งนอกจากการใช้เครื่องมือ SRS ใน 5 จังหวัดนำร่องแล้ว ในปีงบประมาณ 2563 คณะกรรมการ กสศ.ได้ขยายผลการดำเนินงานตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ สนับสนุนทุนเสมอภาคที่จะช่วยป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบให้ครอบคลุมนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้นอนุบาลในสังกัด สพฐ. อปท. ตชด. ให้ครอบคลุม 77 จังหวัด ราว 1.5 แสนคน อย่างไรก็ตามการที่จะสามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้หรือไม่นั้น ต้องรอการพิจารณางบประมาณปี 2563 นี้ ว่ากสศ. จะสามารถแปรญัตติเพิ่มงบประมาณในส่วนที่ถูกตัดลดได้หรือไม่

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ.  กล่าวว่าจากการเก็บข้อมูลขององค์กร OECD ผ่านทางการทดสอบ PISA ที่ผ่านมาในปี 2018 และ 2015 พบว่าประเทศที่เยาวชนกลุ่มอายุ 15 ปี สามารถทำคะแนนได้ดี มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับจำนวนปีที่ใช้ในการเข้าเรียนในระดับปฐมวัย รายงานของ PISA พบว่าสัดส่วนของนักเรียนอายุ 15 ที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน มีความสัมพันธ์กับจำนวนปีที่ขาดโอกาสในการเข้าเรียนในระดับปฐมวัยอย่างชัดเจน ผู้ที่ได้เรียนปฐมวัยเพียง 1 ปีหรือน้อยกว่านั้น จะมีผลสัมฤทธิ์ที่ต่ำกว่าผู้ที่มีโอกาสได้เรียน 2-3 ปีขึ้นไปเป็นอย่างมาก และเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กับเศรษฐานะของครอบครัวด้วย นั่นคือหากครอบครัวอยู่ในกลุ่มด้อยโอกาสทางเศรษฐานะ จะยิ่งมีโอกาสในการเข้าเรียนระดับปฐมวัยที่น้อยลง ดังนั้นภาครัฐจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมุ่งช่วยเหลือครอบครัวของเด็กเล็กที่อยู่ในกลุ่มที่มีความยากลำบากทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ได้มีโอกาสในการเข้าเรียนในระดับปฐมวัยเพื่อผลในระยะยาว นอกจากนั้น จากกรณีศึกษาของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเยาวชน เช่น ฟินแลนด์ เอสโตเนีย หรือประเทศอื่นๆ ที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี ภาครัฐล้วนให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดการศึกษาในระดับปฐมวัยที่มีคุณภาพและทั่วถึง

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเผยว่า ผลสำรวจ SRS พื้นที่นําร่อง 5 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่  เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง และภูเก็ต ในกลุ่มเป้าหมายนักเรียนอายุ 5-6 ปี รวมทั้งสิ้น 2,885 คน ทั้งโรงเรียนระดับอำเภอเมือง /อำเภอกลุ่มความยากจนระดับน้อย จนถึงระดับมากที่สุด พบว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีความขัดสนมากกว่าและครอบครัวที่เคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภค ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะมีความพร้อมด้านคณิตศาสตร์และภาษาไทยต่ำกว่าเด็กกลุ่มอื่น ประเด็นนี้ชี้ว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่ขาดโอกาสมักจะมีพัฒนาการช้า นอกจากนี้ ยังพบว่า มีเด็กปฐมวัยบางส่วนที่มีระดับความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟังค่อนข้างต่ำ ซึ่งจังหวัดที่มีปัญหาส่วนนี้ค่อนข้างมากคือ เชียงใหม่ ร้อยละ 10.6 ศรีสะเกษ ร้อยละ 7.3   เป็นต้น หากเจาะลึกลงไปจะพบว่า ว่าเด็กกลุ่มนี้อยู่ในอำเภอที่ห่างไกล เช่น แม่อาย  ฝาง จอมทอง  

ส่วนความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ มีเด็กปฐมวัยจำนวนไม่น้อยที่มีระดับความพร้อมด้านการรู้จักตัวเลขและด้านการแปลงรูปในใจ ค่อนข้างต่ำ โดยสัดส่วนของเด็กปฐมวัยที่มีระดับความพร้อม ด้านการรู้จักตัวเลข ไม่ถึง 25 คะแนน มากที่สุดคือ เชียงใหม่ร้อยละ 13.9 ศรีสะเกษ ร้อยละ 13.7 กาญจนบุรี ร้อยละ 11.2  “เนื่องจากปัญหาของการศึกษาที่สำคัญคือ การที่มีเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ใช่ความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยเพียงไม่กี่คะแนน  ดังนั้น การรายงานผลโดยใช้สัดส่วนเด็กหางแถว (มีระดับคะแนนไม่ถึงร้อยละ 25 ของคะแนนเต็ม)  จะทำให้เราได้รู้ว่าพื้นที่ไหนมีเด็กหางแถวหรือมีเด็กนักเรียนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากเป็นพิเศษ และช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความเอาใจใส่กับพื้นที่ที่มีสัดส่วนนักเรียนหางแถวที่สูงเป็นพิเศษ นักวิจัยเชื่อว่า การสำรวจข้อมูลความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยและการรายงานผลคะแนนในลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงนโยบายระดับพื้นที่ เพราะสามารถชี้เป้าหมายพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ  โดยควรสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษารวมถึงการสนับสนุนที่มุ่งเป้าไปที่ตัวเด็ก” .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

คนขับแท็กซี่ตายคารถ กว่าจะรู้ผ่านไปหลายชม.

รถแท็กซี่จอดอยู่ป้ายรถเมล์ตั้งแต่เที่ยงจนถึงเย็น มีผู้โดยสารขึ้นรถ แล้วก็ลงมา แถมถูกบีบแตรไล่ จนพ่อค้าขายข้าวโพดต้มเข้าไปเรียกพบคนขับนอนคอพับเสียชีวิต

ถอนตัวWHO

“ทรัมป์” ลงนามในคำสั่งให้สหรัฐถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอนามัยโลก

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐกล่าววานนี้ว่า สหรัฐจะออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก โดยเขาระบุว่า องค์การอนามัยโลกดำเนินการผิดพลาดในการรับมือกับโรคโควิด-19

พิตบูลขย้ำหัวพระ

“อเมริกันบูลลี่” ขย้ำหัวพระ-กัดข้อมือหาย มรณภาพคากุฏิ

สลด! หลวงพี่ เลขาเจ้าอาวาสวัด เลี้ยงอเมริกันบูลลี่ไว้ตั้งแต่เป็นลูกสุนัข ผ่านไปปีกว่า ถูกขย้ำหัวมรณภาพคากุฏิ ข้อมือขาดหายไป ยังหาไม่พบ

ข่าวแนะนำ

หนุ่มอุดรฯ ดวงเฮง ถูกลอตเตอรี่เกาหลีใต้ 45 ล้านบาท

สุดเฮง! หนุ่มอุดรฯ ถูกลอตเตอรี่เกาหลีใต้ รับเงินรางวัล 45 ล้านบาท ลูกสาวเผยพ่อเป็นคนชอบทำบุญ ก่อนหน้านี้เพิ่งโทรมาบอกให้ใส่บาตร เชื่อผลบุญหนุนโชคลาภ

สามีภรรยาจากอยุธยารับ “เจ้าจอร์จ” ไปดูแล

สามีภรรยาใจบุญจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ขอรับ “เจ้าจอร์จ” สุนัขพันธุ์อเมริกันบูลลี่ ไปอุปการะแล้ว หลังกัดแทะร่างพระเจ้าของที่มรณภาพในกุฏิด้วยโรคประจำตัว

ดีเอสไออนุมัติสืบสวนคดีแตงโม คาดตั้งชุดเริ่มสืบได้ 27 ม.ค.นี้

อธิบดีดีเอสไอ อนุมัติให้สืบสวนคดีแตงโม ว่ามีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ คาดเริ่มได้ 27 ม.ค.นี้