ศธ.12 พ.ย.- สพฐ.ร่วม กสศ.วางระบบจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กยากจน หลังตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาค ชี้เริ่มช่วยเหลือ ให้งบ 800 บาทต่อคนต่อปี กับเด็กกลุ่มยากจนพิเศษราว 6 เเสนคนภายในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนขยายผลไปกลุ่มอื่น
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เพื่อดำเนินการโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไขในสถานศึกษาสังกัดสพฐ. พร้อมกันนี้ได้จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ประจำภาคเรียนที่ 2/2561 ตั้งเเต่วิธีการตรวจสอบรายชื่อ ก่อนการจัดสรรเงินอุดหนุน เพื่อให้นักเรียนที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือตรงปัญหาด้วยกระบวนการที่โปร่งใส รวมถึงอธิบายถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในครั้งนี้ แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูทั่วประเทศเพื่อให้เกิดการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านระบบเทเลคอนเฟอเร้นซ์
นายบุญรักษ์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ทำให้เกิดการปฏิรูปใน 2 เรื่องสำคัญ คือ การปฏิรูประบบการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทำให้เงินอุดหนุนถูกจัดสรรไปช่วยเหลือนักเรียนตรงสภาพปัญหาและความจำเป็นรายบุคคล /และการปฏิรูปกลไกการจ่ายเงินอุดหนุนของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย การมีเกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนและกลไกตรวจสอบหลายระดับจากการวิจัยพัฒนาและรับฟังความคิดเห็นต่อเนื่องกว่า 3 ปี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นบิ๊กดาต้า(Big Data) เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้ในระยะยาวอีกด้วย โดยการดำเนินโครงการนี้ ผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องดูเเลเพื่อให้งบตกถึงตัวเด็กโดยตรง ขณะที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จะต้องมีกลุ่มงานที่กำกับติดตามเเละดูเเลเงินงบประมาณนี้ตั้งเเต่งบประมาณโอนเข้าบัญชีโรงเรียนเเล้วถูกส่งถึงตัวเด็กหรือไม่ เงินถูกใช้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงบประมาณหรือไม่ รวมถึงรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเด็กยังได้รับความเดือดร้อนหรือควรได้รับการช่วยเหลือด้านใดอีกหรือไม่
นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า สพฐ.สำรวจพบมีเด็กยากจนที่ช่วยเหลืออยู่เดิมจำนวน 1,696,433 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของเด็กทั้งหมด โดยจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีความยากจนพิเศษประมาณ 6 แสนคน เเบ่งเป็นประถมศึกษา 430,000 คนเเละมัธยมศึกษา 180,000 คนซึ่งความชัดเจนในเรื่องของจำนวนเด็กยากจนที่เเน่นอนนั้น ขณะนี้โรงเรียนได้ดำเนินการคัดกรอง ก่อนที่ทางกสศ. จะเข้ามาช่วยเหลือเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ 6 แสนกว่าคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ระหว่างคัดกรอง เพื่อสรุปยอดของเด็กยากจนพิเศษภายในเดือนนี้ จากนั้นจะส่งงบประมาณช่วยเหลือภายในกลางเดือนธันวาคมนี้ ก่อนจะขยายผลไปยังเด็กยากจนกลุ่มอื่นๆ
ด้านนพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2561 จะมีการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นป.1-ม.3 โดยให้งบประมาณ 800 บาทต่อคนต่อภาคเรียน โดยแบ่งการจัดสรรเงินออกเป็น 2 ส่วน เท่าๆกัน คือส่งโดยตรงไปยังตัวเด็ก คือ เป็นเงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าครองชีพ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียนและค่าครองชีพระหว่างเรียน /และส่งเงินงบประมาณผ่านโรงเรียน เป็นเงินอุดหนุนแก่สถานศึกษาเพื่อกิจกรรมการพัฒนานักเรียนยากจนให้มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ รวมถึงค่าอาหารที่ทางสถานศึกษาจัดหาให้เพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนในปัจจุบัน ซึ่งระหว่างเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคมนี้จะเป็นช่วงที่สถานศึกษาส่งรายชื่อนักเรียนที่เข้าเกณฑ์ยากจนพิเศษจากผลการคัดกรองเมื่อเทอม 1/2561 ให้แก่ กสศ. โดย สพฐ. และ กสศ. จะเปิดโอกาสให้สถานศึกษาปรับปรุงรายชื่อให้เป็นปัจจุบัน จากนั้นนักเรียนที่ขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มเติมจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง โดยครูประจำชั้นจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลรายได้ และสถานะความยากจนของเด็กเป็นรายบุคคลระหว่างกระบวนการเยี่ยมบ้านในเทอม 2/2561 ร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ จากนั้นคณะกรรมการสถานศึกษาจะพิจารณารับรองความถูกต้องของข้อมูลรายชื่อและผลการคัดกรองทั้งหมดอีกครั้งก่อนส่งข้อมูลให้แก่ กสศ.
อย่างไรก็ตาม ได้มีการทำวิจัย ติดตามเเละประเมินผลในการช่วยเหลือเด็กว่าเงิน 800 บาทต่อคนต่อเทอม เพียงพอหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นตนมองว่าไม่เพียงพอ รวมถึงการช่วยเหลือเด็กยากจนกลุ่มอื่นๆ เพราะงบประเดิมก้อนเเรกที่ได้รับมีประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันเด็กกลุ่มยากจนจะได้รับเงินอุดหนุนจากของรัฐอยู่แล้ว นอกจากนโยบายเรียนฟรี จะได้รับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนในระดับประถมศึกษา 500 บาทต่อคนต่อเทอม เเละมัธยมศึกษา 1,500 บาทต่อคนต่อเทอม ซึ่งกสศ.ก็พยายามจะหาเเนวทางในการช่วยเหลือในอนาคตด้วย เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ขณะที่นายวีรณัฐ ทนะวัง ครูโรงเรียนบ้านผาเวียง จังหวัดน่าน กล่าวว่า สำหรับระบบการคัดกรองเด็กจากประสบการณ์ที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก ใช้งานง่ายและสื่อสารข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ต้นทางรับทราบข้อมูลเด็กยากจนได้ทันที สามารถปักหมุดข้อมูลเด็กครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่ว่าบ้านของเด็กเหล่านั้นจะอยู่บนดอย บนเกาะ ในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเด็กแบบรายบุคคล ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมา ครูต้องจัดทำเป็นเอกสารส่งข้อมูลเด็กไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ จากนั้นเขตพื้นที่จะต้องส่งเรื่องมาที่ศึกษาธิการจังหวัด และค่อยมาถึงต้นทางคือส่วนกลาง ทำให้กระบวนการล่าช้า แต่เมื่อมีแอพพลิเคชั่นนี้ถือว่าตอบโจทย์ของโรงเรียนไม่ยุ่งยาก ลดภาระงานเอกสาร ช่วยประมวลผลข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีประโยชน์ต่อครูและโรงเรียนเพื่อช่วยนักเรียนของเราได้ตรงจุด.-สำนักข่าวไทย