กรุงเทพฯ 5 ธ.ค. – ดีเอสไอ คาดสรุปสำนวนคดี “บิลลี่” ส่งอัยการได้เร็วสุดภายในเดือนนี้ หรืออย่างช้าต้นเดือน ม.ค.ปีหน้า ส่วนการยื่นฝากขังรอบ 3 “ชัยวัฒน์” กับพวก จะได้ประกันตัวหรือไม่ ขอให้เป็นดุลพินิจของศาล
พ.ต.ต.วรนันท์ ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า วานนี้ (4 ธ.ค.) พนักงานสอบสวนดีเอสไอ เดินทางไปที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี เพื่อยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังครั้งที่ 3 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ที่เพิ่งได้รับคำสั่งย้ายตำแหน่งไปปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ปัตตานี ผู้ต้องหาที่ 1, นายบุญแทน บุษราคำ ผู้ต้องหาที่ 2, นายธนเสฏฐ์ หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ ผู้ต้องหาที่ 3 และนายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ ผู้ต้องหาที่ 4 ในคดีเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวทำร้าย และร่วมกันฆ่านายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย
เนื่องจากผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จะครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 2 ในวันนี้ (5 ธ.ค.) แต่ตรงกับวันหยุดราชการ ซึ่งการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จึงขอยื่นฝากขังครั้งที่ 3 เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 6-17 ธันวาคมนี้ โดยศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ โดยนายชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คนนั้น จะต้องเดินทางมารายงานตัวต่อศาลอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (6 ธ.ค.) ตามกำหนดนัดในเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวชั้นฝากขังด้วย หลังจากที่ได้ประกันตัวในชั้นฝากขัง ด้วยหลักทรัพย์คนละ 800,000 บาท หลังจากขอยื่นฝากขังเป็นครั้งที่ 3 ทั้งหมดจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ คงต้องเป็นดุลพินิจของศาล
พ.ต.ต.วรนันท์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าคดี “บิลลี่” ว่ามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เหลือการสอบปากคำกลุ่มพยานผู้เชี่ยวชาญ คือ แพทย์ที่ผ่าชันสูตร และพยานแวดล้อมทางคดีอีกบางส่วน นอกจากนี้ ยังต้องรอดูว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร จะนำพยานหลักฐานอะไรมายื่นเพิ่มเติมหรือไม่ เนื่องจากดีเอสไอจะต้องทำสำนวนคดีให้สมบูรณ์ที่สุด โดยต้องมีข้อมูลพยานหลักฐานจากทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งตอนนี้มาถึงช่วงโค้งสุดท้ายในการสรุปสำนวนเพื่อนำส่งอัยการ คาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ หรืออย่างช้าน่าจะเป็นช่วงต้นเดือนมกราคม 2563
ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งชิ้นส่วนกระดูก 9 ชิ้นสุดท้าย จากทั้งหมด 20 ชิ้น ที่นำขึ้นมาจากใต้น้ำ บริเวณสะพานแขวน ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจเปรียบเทียบสารพันธุกรรมของกระดูกดังกล่าวกับสารพันธุกรรมของนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของบิลลี่ ว่ามีความสัมพันธ์เป็นมารดากับบุตรหรือไม่ ซึ่งผลการตรวจกระดูกทั้ง 9 ชิ้น เบื้องต้นพบว่า ผลตรวจดีเอ็นเอไม่ตรงกับนายบิลลี่ แต่เป็นชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนได้พิจารณาแล้ว ควรมีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ที่เก็บหลักฐานดังกล่าวอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาหรือจุดพบ เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างชิ้นส่วนกระดูกรอบแรกที่เป็นชิ้นส่วนกะโหลกที่นำไปตรวจพิสูจน์ และระบุได้ว่า ดีเอ็นเอตรงกับมารดาของนายบิลลี่ จนนำไปสู่คดีฆาตกรรมนายบิลลี่ เนื่องจากพนักงานสอบสวนต้องการปิดประเด็นหักล้างทำลายความน่าเชื่อถือเรื่องวัตถุพยานของผู้ต้องหา. – สำนักข่าวไทย