กรุงเทพฯ 4 ธ.ค. – กบง.เห็นชอบ กรอบ โรงไฟฟ้าชุมชน ” สนธิรัตน์ “ย้ำขอให้ไปฟังข่าวดีเต็มรูปแบบหลัง กพช.เห็นชอบ 16 ธ.ค. ผลักดัน ฮับแอลเอ็นจี กระตุ้นเศรษฐกิจ 1.6 แสนล้านบาท สานฝัน ปตท.เป็นจริง กฟผ. ยอมลงนามสัญญาก๊าซหลัก Global DCQ ปลายปีนี้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันนี้ (4 ธ.ค.) เห็นชอบแผนส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ใดๆ จากที่เคยระบุก่อนหน้านี้ว่าจะมีกำลังผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์ มีอัตราสนับสนุนค่าไฟฟ้า โดยจะเป็นโครงการที่เอกชนร่วมทุนกับชุมชน ซึ่งจะมีเงินลงทุนราว 1.5 แสนล้านบาท เพราะต้องนำ ผลอนุมัติ จาก กบง.ไปเสนอต่อ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ ส่วนของขวัญปีใหม่ที่เดิมตั้งใจให้มีทั้งการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซฯนั้น ในเรื่องนี้ ยอมรับว่าดำเนินการไม่ทันเพราะต้องฟังความเห็นรอบด้านให้มากที่สุด
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ได้พยายามแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างและวางแผนสร้างความมั่นคงด้านพลังงานระยะยาว เกิดการแข่งขันสร้างความเป็นธรรมด้านพลังงาน ซึ่งในวันนี้ ก็ได้แก้ไขปัญหาที่ 2 รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานตกลงกันไม่ได้มายาวนานให้จบลงได้ นั่น ก็คือ การเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลักระหว่าง ปตท. และ กฟผ. (Global DCQ) ซึ่งสัญญาระยะยาวสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2558 หลังจากนั้น ทั้งสองหน่วยงานได้ทำสัญญาเป็นแบบปีต่อปี อย่างไรก็ตาม ตนได้เป็นกาวใจให้ แต่ละหน่วยงานพิจารณาแก้ไขปัญหาให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ซึ่งได้มีข้อตกลงกันแล้ว และจะมีการลงนามร่วมกันในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ร่วมพิจารณาร่างสัญญา พิจารณาภายใต้หลักการให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน ให้เป็นธรรมทุกฝ่าย และไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้า
ทั้งนี้ Global DCQ เป็นสัญญาเพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงก๊าซฯ และมีความยืดหยุ่นในการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซฯ ซึ่งมีปริมาณซื้อขายราว 1,000-1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า กบง.ได้รับทราบแนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) คาดว่าจะเริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการต่างๆ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เช่น ระบบบริการขนถ่าย LNG (Reload System) ให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering) และทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้า LNG เข้ามาใช้บริการ โดยช่วงไตรมาสที่ 2 – 3 ของปี 2563 จะเริ่มทดลองค้าขาย LNG เชิงพาณิชย์ จะมีการทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคและระดับสากล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบประมาณปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 เป็นต้นไป
สำหรับผลที่ได้รับจากการพัฒนา Regional LNG Hub จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม ซึ่งผลของการพัฒนาเป็น Hub ดังกล่าวจะเกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยโดยรวมประมาณ 165,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปี (ปี 2563-2573) และมีผลต่ออัตราการจ้างงานเฉลี่ยในประเทศเพิ่มขึ้นเท่ากับ 16,000 คนต่อปี อีกทั้งยังช่วยลดภาระการส่งผ่านอัตราค่าบริการไปยังค่าไฟฟ้าด้วย
โครงการ Regional LNG Hub นั้น บมจ.ปตท.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานให้ศึกษาความเป็นไปได้ เนื่องจากไทยมีศักยภาพเพียงพอทั้งด้านความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่อยู่ระดับสูง โดยเฉลี่ยปี 2562 ไทยนำเข้าแอลเอ็นจีประมาณ 5 ล้านตันต่อปี และที่ตั้งของไทยนั้น อยู่ในตำแหน่งเป็นศูนย์กลางของประเทศที่มีความต้องการ LNG ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม โดยภูมิภาคนี้ คิดเป็นประมาณ ร้อยละ60 ของการซื้อ-ขาย LNG ในโลก และมีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับการให้บริการอย่างหลากหลาย อาทิ การขนถ่าย LNG จากเรือ การให้บริการกักเก็บ LNG ในถังกักเก็บ การแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซธรรมชาติส่งผ่านลูกค้าในประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้ กบง. ยังได้รับทราบแนวทางการคำนวณราคาไบโอดีเซล (B100) เพื่อใช้ผสมเป็นดีเซลหมุนเร็ว โดยยังคงให้ใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาไบโอดีเซลที่มีอยู่ปัจจุบันไปก่อน และมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ติดตามผลการใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานและศึกษาผลกระทบต่างๆ เร่งศึกษาหลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซลใหม่ที่เหมาะสม และนำมาเสนอ กบง. เพื่อประกอบการศึกษาผลทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคา B100 ต่อไป . – สำนักข่าวไทย