จุฬาฯ 22 พ.ย.- สมเด็จพระสันตะปาปา เสด็จไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “สร้างสะพานแห่งความเข้าใจและสันติสุข” ระบุความร่วมมือระหว่างศาสนาต่าง ๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติในการเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนในปัจจุบัน
เมื่อเวลา 15.20 น. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน และศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก เสด็จยังหอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อสร้างสะพานแห่งความเข้าใจและสันติสุข ต่อคณะผู้นำศาสนาต่าง ๆ และประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพระคาร์ดินัลฟรังซิส เซเวียร์เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช อาร์ชบิชอปแห่งเขตปกครองกรุงเทพฯ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมุขแห่งเขตปกครองนครราชสีมา และประธานกรรมาธิการฝ่ายเสวนาระหว่างศาสนา ผู้แทนคริสตศาสนสัมพันธ์ของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ร่วมรับเสด็จ โดยมีคณะนักร้องประสานเสียงจากหลากหลายกลุ่มศาสนา ได้ร่วมขับร้องประสานเสียงบทเพลง Peace Prayer ให้การต้อนรับ
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ได้ทรงแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “Building Bridges for Peace and Understanding” หรือ สร้างสะพานแห่งความเข้าใจและสันติสุข โดยทรงตรัสเป็นภาษาสเปน พร้อมมีล่ามแปลเป็นภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งมีผู้นำทางศาสนา 5 ศาสนา จำนวน 18 ท่าน อาทิ สมเด็จพระวันรัต ผู้แทนมหาเถรสมาคม นายประสาน ศรีเจริญ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ นายปานชัย สิงห์สัจเทพ นายกสมาคมศรีคุรุสิงห์ นายจรัล ศรีสวรรค์ชวาลา นายกสมาคมศาสนาซิกข์นามธารีสังคัตประเทศไทย และผู้นำคริสตชนนิกายต่างๆ รวมถึงคณาจารย์ และนิสิต ร่วมรับฟังปาฐกถา สาระคำคัญตอนหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสถึงเรื่องความจําเป็นในการยอมรับและเห็นคุณค่าของกันและกัน รวมถึงความร่วมมือระหว่างศาสนาต่าง ๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติในการเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนในปัจจุบัน
“โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจการเงิน และผลกระทบที่รุนแรงต่อการพัฒนาสังคมท้องถิ่น ความขัดแย้งทางสังคม รวมทั้งปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐาน ของผู้ลี้ภัย ซึ่งภาวะการณ์เหล่านี้กระตุ้นเตือนว่าไม่มีภูมิภาคหรือภาคส่วนใดของมนุษยชาติที่จะไม่ได้รับผลกระทบ เราจึงจำเป็นต้องค้นหาวิธีการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งคือการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน โดยพระองค์เชื่อว่าสถาบันศาสนา รวมถึงสถาบันการศึกษา จะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมกันแก้ปัญหา และน่าจะเป็นหลักประกันในอนาคตให้กับอนุชนรุ่นหลัง รวมทั้งธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและสันติภาพ” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ตรัส
จากนั้นเวลา 17.00 น. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จถึงอาสนวิหารอัสสัมชัญ ทรงประกอบพิธีมิสซา และประทานโอวาทให้เยาวชน ที่เป็นคนรุ่นใหม่ “You are the Now of God” ในเรื่องของการใช้ชีวิต เพราะเยาวชน คือ ความหวังของโลกอนาคต ควรต้องรู้จักใช้ชีวิต ด้วยการสร้างและวางรากฐานชีวิตเหมือนกับบรรพบุรุษ เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านงดงาม มีรากที่แข็งแรง เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ด้วยการเรียนรู้ ทำความดี อย่ากลัวอนาคต ขอให้มองอนาคตด้วยความเบิกบาน กล้าหาญ ตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันและนำความรักความเมตตามอบสู่ผู้คนบนโลก เพื่อให้เกิดความสันติสุข
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ขอให้เยาวชนผู้ต่างเป็นความหวังของโลกอนาคต อย่าให้สิ่งดึงดูดความสนใจทำให้เยาวชนล่องลอยและไฟแห่งชีวิตมอดดับ และขอให้เชื่อมั่นในความดีและมิตรภาพที่แน่นแฟ้น เพราะจะทำให้ทุกคนมีความสุข.-สำนักข่าวไทย