กรุงเทพฯ 15 พ.ย. – “เฉลิมชัย” สั่งทุกหน่วยงานยกระดับป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เตรียมของบกลางดำเนินมาตรการลดความเสี่ยง มั่นใจจะไม่มีการระบาดในประเทศไทย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ จากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) พบใน 29 ประเทศ แบ่งเป็น ทวีปแอฟริกา 5 ประเทศ ทวีปยุโรป 13 ประเทศ และทวีปเอเชีย 11 ประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา เกาหลีเหนือ สปป.ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ติมอร์-เลสเต และอินโดนีเซีย
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ไทยยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าว แต่ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบระบาดแล้ว จึงต้องจัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค วันนี้ (15 พ.ย.) จึงเชิญทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และเกษตรกรมารับทราบแนวเวชปฏิบัติของโรค ASF จัดตั้ง War Room ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เตรียมซ้อมรับมือทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัย อีกทั้งร่วมกับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลการเฝ้าระวัง
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน (เร่งด่วน) จำนวน 950 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรค ASF ได้แก่ ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย เพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคในพื้นที่เสี่ยงสูง รถกำจัดซากสัตว์ติดเชื้อเพื่อควบคุมโรคระบาด และเครื่องตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมในสภาพจริงแบบเคลื่อนที่ ตลอดจนดำเนินมาตรการป้องกัน คือ การประกาศระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรจากประเทศที่มีการระบาดของโรค และบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสุกร ผลิตภัณฑ์สุกรเข้ามาในประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ X-Ray เคาะประตูบ้าน เฝ้าระวังทางอาการ ขึ้นทะเบียนและประเมินความเสี่ยงด้วยแอพลิเคชั่น E-SmartPlus พร้อมให้คำแนะนำความรู้เรื่องโรคและการป้องกันเป็นต้น ซึ่งจะต้องเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบการของบประมาณดังกล่าว
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ยังขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ เข้มงวดตรวจสอบและตรวจยึดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสุกรที่นักท่องเที่ยวนำติดตัวมา การจัดการเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคในโรงแรมและสถานประกอบการร้านอาหาร และการกำหนดมาตรการควบคุม กำกับดูแลแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์สุกรที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น หากทุกภาคส่วนมีความร่วมมือกันจะป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศไทยได้
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ได้รับผลกระทบจากการลดจำนวนสุกรที่เลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยง โดยจะส่งเสริมการเลี้ยงแพะ เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณการบริโภคปี 2561 จำนวน 498,031 ตัว มีความต้องการในตลาด 647,440 ตัว แบ่งเป็นการบริโภคในประเทศและการส่งออก ทั้งการส่งออกไปประเทศมาเลเซียและเวียดนาม นอกจากนี้ ยังจะมีการช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนอาชีพไปเลี้ยงโคเนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง และการปลูกพืชอาหารสัตว์ 2 ไร่ เป็นต้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่อง” นายเฉลิมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย