หนองบัวลำภู 14 พ.ย. 62 – กรมทรัพยากรธรณี
ค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ตัวที่ 11 ของประเทศไทย
กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
และจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดตัวซากฟอสซิลไดโนเสาร์ โดยพบว่าเป็นการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่
ตัวที่ 11 ของประเทศไทย
นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ซากชิ้นส่วนฟอสซิล
เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลาง สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ชื่อว่า“วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis) หรือ ไดโนเสาร์จ้าวลมกรด มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 4-4.5 เมตร อายุ 130
ล้านปี โดยทีมวิจัยค้นพบที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า – ภูพานคำ
จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งพบชิ้นส่วนครั้งแรกเมื่อปี 2531 โดยทีมวิจัยของ นายพลาเดช
ศรีสุข เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สำหรับชื่อสกุล วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส มาจากภาษาสันสกฤต วายุ หรือพระพาย
เทพแห่งลม ผสมกับ raptor ภาษาลาติน แปลว่า หัวขโมย
สื่อถึงไดโนเสาร์ที่มีความเร็วปราดเปรียว ตั้งขึ้นตามลักษณะของขาหลังที่ยาวเรียว
ส่วนชื่อชนิด ตั้งตามจังหวัดที่ค้นพบ
วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส
จัดอยู่ในกลุ่มเบซอลซีลูโรซอร์ (basal coelurosaurs) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนกมากกว่า
ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่อื่นๆ โดยชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบประกอบด้วย
กระดูกหน้าแข้งและข้อเท้า กระดูกคอราคอยด์ กระดูกซี่โครง กระดูกหัวหน่าว
กระดูกฟิบูล่า และนิ้ว จากการศึกษาลักษณะของกระดูกข้อเท้า
ที่ไม่เหมือนไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดใดๆ ในโลก
ทำให้สามารถจำแนกเป็นชนิดใหม่ได้ แต่ด้วยจำนวนฟอสซิลที่ค้นพบนั้น
ยังไม่เพียงพอในการศึกษาจำแนกลงลึกในรายละเอียดความสัมพันธ์กับไดโนเสาร์ในกลุ่มซีลูโรซอร์อื่นๆ
จำเป็นจะต้องมีการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติมต่อไป โดยกรมทรัพยากรธรณีจะดำเนินการประกาศให้เป็นซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนตาม
พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ต่อไป
ทั้งนี้บริเวณอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เป็นแหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์หลากหลายประเภท
ได้แก่ กระดูกไดโนเสาร์ ฟันฉลามน้ำจืด เกร็ดปลา กระดองเต่า จระเข้ หอยน้ำจืด
รอยตีนไดโนเสาร์ และไม้กลายเป็นหิน .-สำนักข่าวไทย