กรุงเทพฯ 1 พ.ย. – “มนัญญา” รมช.เกษตรฯ บุกตรวจด่านเชียงแสน ผงะพบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ 14 ชนิด ด้านสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยระบุรัฐต้องระงับนำเข้าพืชผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะสารเคมี 3 ชนิด
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจด่านตรวจพืชของเชียงแสน กรมวิชาการเกษตร ที่ท่าเรือห้าเชียงและท่าเรือเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยไม่แจ้งหน่วยงานในพื้นที่ล่วงหน้าและเข้าสังเกตการณ์ห้องปฏิบัติการตรวจหาสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ที่นำเข้าจากจีนและและเมียนมา พบกลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช คือ ออการ์โนฟอสเฟตหรือคลอร์ไพรีฟอส ออการ์โนคลอรีน และไพรีทรอยด์
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า ด่านตรวจพืชแห่งนี้สุ่มตัวอย่าง 1,500 ตัวอย่างต่อปี เพื่อตรวจสารเคมีตกค้างสินค้าเกษตรนำเข้า กระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่เฝ้าระวัง เมื่อด่านตรวจพืชพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน แต่ไม่มีอำนาจกักกันต้องแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีอำนาจกักสินค้านำเข้าเพื่อการบริโภค ซึ่งจะหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมมือกันตรวจอย่างเข้มงวดและกักกันไม่ให้สินค้าที่มีสารตกค้างเกินกว่าที่กำหนดนำเข้าได้
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการด่านเชียงของให้มีศักยภาพตรวจหาสารเคมีกว่า 100 ชนิด ส่วน อย.จะกักกันผักผลไม้ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่เกษตรกรไทย จากการที่ผักผลไม้ต่างประเทศเข้ามาตีตลาดปีละหลายแสนตันด่านเชียงของผักผลไม้เหล่านี้จะส่งไปตลาดไทแล้วกระจายไปยังตลาดทั่วประเทศ
สำหรับสถิติการสุ่มตรวจสินค้าจากจีนและเมียนมา 1,500 ตัวอย่างปีนี้ พบผักผลไม้ 14 ชนิด มีสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐาน ได้แก่ ไดโครโตฟอส เมทามิโดฟอส และเมวินฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อยู่ในกลุ่มออการ์โนฟอสเฟต ตรวจพบในพริก พริกหยวก และส้มจากเมียนมา นอกจากนี้ ยังพบในขึ้นฉ่าย ซาลารี กะหล่ำปลีม่วง พริก บล็อคเคอรี่ แรดิชที่นำเข้าจากจีน สำหรับสินค้าเกษตรที่พบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างมากที่สุด คือ ส้ม ตรวจพบทุกตัวอย่างที่สุ่มตรวจ
ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่ รมช.เกษตรฯ จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขห้ามนำเข้าผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและห่วงใยเกษตรกรที่ถูกผักผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านมาตีตลาด จากผลการตรวจสอบครั้งนี้ทำให้เห็นว่าสารเคมีที่ตกค้างในผักผลไม้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรู แต่ไม่มีรายงานการพบสารป้องกันกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะพาราควอตและไกลโฟเซตที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกใช้ โดยมีผลวันที่ 1 ธันวาคม เนื่องจากการใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชอย่างพาราควอตออกฤทธิ์โดยการสัมผัสและเลือกทำลาย คือ ทำให้ส่วนที่เป็นสีเขียวของพืชไหม้ เกษตรกรจึงใช้ฉีดพ่นหญ้าและวัชพืชเท่านั้น ไม่ได้ใช้ฉีดในผักผลไม้หรือข้าวอย่างที่เอ็นจีโอให้ข้อมูล เนื่องจากหากฉีดในพืชผัก ไม้ผล หรือต้นข้าวจะตายหมด ไม่มีผลผลิตออกมาจำหน่าย ส่วนไกลโฟเซตจะดูดซึมเข้าสู่ระบบส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชซึ่งอยู่ใต้ดิน เกษตรกรไม่ใช้ฉีดในพืชประธาน
ทั้งนี้ เมื่อประกาศกระทรวงอุตสาหกรรรมเรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายห้ามพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสมีผลบังคับใช้ ทางสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยและสมาคมเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดจะเรียกร้องให้รัฐห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรทุกชนิดจากประเทศที่ยังใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ ซึ่งปรากฏตามข้อมูลของสมาคมวิทยาการจัดการวัชพืชแห่งประเทศไทย ได้แก่ พาราควอตยังคงมีใช้ใน 86 ประเทศ ไกลโฟเซตมีใช้ใน 161 ประเทศ และคลอร์ไพริฟอสมีใช้ใน 89 ประเทศ
“หากผู้บริหารทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่า สารเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยจนนำไปสู่การยกเลิกใช้ในไทยก็ต้องห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังใช้อยู่ทั้งหมด อีกทั้งหากยังคงให้นำเข้าจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรไทย เนื่องจากเมื่อยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดนี้ ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรจะสูงขึ้น แต่ประเทศอื่นที่ยังใช้อยู่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ดังนั้น ต้องเปิดโอกาสและส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตผักผลไม้ปลอดภัยออกมาจำหน่ายภายในประเทศเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวและประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง” นายสุกรรณ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย