กรุงเทพฯ 26 ต.ค.-ภาคประชาชน เชื่อการที่สหรัฐประกาศตัดสิทธิ์ จีเอสพี หรือการระงับให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปกับสินค้าของไทยเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น เป็นคนละส่วนกับการแบน 3 สารเคมี ขณะเดียวกันกลุ่มเกษตรกรไร่อ้อย เริ่มปรับตัวใช้สารอื่นทดแทนพาราควอต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พาณิชย์เตรียมแถลง กรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย 28 ต.ค.นี้
- สถานทูตสหรัฐ ชี้ประกาศแบน “ไกลโฟเซต” กระทบไทยนำเข้าถั่วเหลือง-ข้าวสาลี
- สหรัฐคืนสิทธิพิเศษทางภาษีให้ยูเครน แต่ระงับที่ให้ไทย
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวถึงกรณีสหรัฐ ตัดสิทธิ์ GSP ไทย ว่า เรื่องนี้ ไม่น่าเกี่ยวกับหนังสือการแบนสารเคมี เพราะคำประกาศตัดสิทธิจีเอสพี เป็นคนละส่วนกับเรื่องการแบนสารเคมีภาคการเกษตร ซึ่งกรณีนี้ก็ขอย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องทบทวน หรือชี้แจงใดๆ เพราะการแบนสารเคมีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกีดกันทางการค้า แต่เพราะมีข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ และข้อมูลสุขภาพ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน แต่หากจะทำการชี้แจงก็สามารถทำได้ตามปกติ โดยอาจให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ชี้แจงทางสหรัฐก็ได้
ส่วนปัญหาภายหลัง ไบโอไทย แบน 3 สารเคมีอันตราย ทั้งพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ล่าสุดปรากฎว่า มีกลุ่มที่ไม่พอใจมาคุกคามผ่านเพจ Biothai โดยโพสต์ในหน้าเพจว่า “ลามปามเล่นไม่เลือก จะตายสักวัน” ซึ่งเราพบว่าเป็นกลุ่มบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเราจะไปลงบันทึกประจำวัน เพื่อความปลอดภัย คาดว่าจะไปในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ เวลา 10.00 น.ที่สถานีตำรวจนนทบุรี
ขณะที่กลุ่มเกษตรกรไร่อ้อย ในจังหวัดมุกดาหาร เริ่มปรับตัว หลังคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติแบน 3 สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยนายสุวรรณ แสนต่างใจ ชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยกว่า 30 ปี บอกวิธีการปรับตัวว่า เริ่มจากก่อนปลูกอ้อย 1 อาทิตย์ ก็จะใช้การไถกลบดิน กลับไปกลับมาหญ้าก็จะหมดไปเอง แต่จะทำให้ราคาต้นทุนสูง ปัจจุบันราคาอ้อยตันละ 700 บาท ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยเหลือ ชาวไร่อ้อยอยู่ไม่ได้ ไม่มีการปลูกอ้อยเศรษฐกิจก็จะทรุด ปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยในจังหวัดมุกดาหาร เหลือแค่ 130,000 ไร่ จากเดิม 2 แสนไร่ และไม่รู้ว่าอนาคตผลผลิตจะเป็นอย่างไร จึงอยากให้รัฐบาลหาทางแก้ไข และหากต้องการให้เลิกเผาอ้อย เลิกใช้สารเคมี รัฐบาลต้องประกันราคาอ้อยอย่างน้อยตันละ 1,000 -1,200 บาท ชาวไร่อ้อยจึงจะอยู่ได้.-สำนักข่าวไทย