เมืองเซินเจิ้น 23 ต.ค. – บอร์ดคัดเลือกฯ สร้างสนามบินอู่ตะเภาเตรียมเปิดซองเทคนิค คิดคะแนนกลุ่มซีพี 24 ต.ค. รอลุ้นศาลปกครองชี้ขาดต้นเดือน พ.ย. ยื่นซองประกวดราคา เลขาธิการอีอีซี ย้ำรายได้สร้างสนามบินอู่ตะเภาแบบ PPP ชดเชยการสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน รัฐแทบไม่ต้องควักกระเป๋าลงทุนเพิ่ม
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อนำซองเอกสาร 2 (ซองเทคนิค) กล่องที่ 6 มาเปิดพิจารณาคุณสมบัติทางเทคนิค รวมกับกล่องเอกสารอื่นทั้งหมด จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะรวบรวมคะแนนทางเทคนิกทั้งหมด โดยกลุ่มซีพีต้องได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 80 จึงจะผ่านขั้นตอนเข้าไปเปิดซองราคาประมูล (ซอง3)
หลังจากภาคเอกชนอีก 2 ราย คือ กลุ่ม BBS นำโดยบางกอกแอร์เวย์ บีทีเอส และบริษัท ซิโน-ไทย โดยใช้บริษัท โตเกียวแอร์พอร์ต เป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหารสนามบิน ส่วนกลุ่มแกรนด์คอซอร์เทียม GMR เป็นเอกชนสัญญชาติอินเดีย ได้ใช้บริษัทอินทิราคานธีร์ แอร์พอร์ต บริหารสนามบิน เอกชนทั้ง 2 รายผ่านการพิจารณาเงื่อนไขทางเทคนิคไปแล้ว เพราะคะแนนเกินร้อยละ 80 การก่อสร้างสนามบินต้องการใช้ผู้มีประสบการณ์ จึงต้องกำหนดคะแนนประสบการณ์ก่อสร้างค่อนข้างสูง ส่วนกลุ่มซีพีและพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท อิตัลไทย ช.การช่าง และแฟรงเฟิร์ตแอร์พอร์ต
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาต้องการทำงานคู่ขนานไปกับการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดที่เตรียมออกนั่งบัลลังก์วินิจฉัยชี้ขาดวันที่ 4 หรือ 7 พฤศจิกายนนี้ กรณีบริษัท ธนโฮลดิ้งและพันธมิตรยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อเปิดซองเทคนิคและซองราคาของกลุ่มซีพี หากพิจารณาตัดสินว่ากลุ่มซีพีเข้าร่วมกระบวนการยื่นซองประกวดราคาได้ คณะกรรมการจึงเตรียมเปิดซองของกลุ่มซีพี เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนเปิดซอง 3 (ซองราคา) กล่องที่ 9 และหากตัดสินว่ากลุ่มซีพีตกไปจะใช้เพียงการเปิดซองราคาของทั้ง 2 กลุ่มแรกเท่านั้น เพื่อผู้ชนะการประมูล แต่หากตัดสินให้กลุ่มซีพีเข้าร่วมประมูลได้จะเปิดซองทั้งหมด 3 รายพร้อมกัน จากนั้นเชิญเอกชนผู้ชนะการประมูลราคาเจรจาภายในเดือนธันวาคม หรือต้นเดือนมกราคมปี 2563 เพื่อลงนามสัญญาในขั้นต่อไป การเปิดซองราคาก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาครั้งนี้ เพื่อการเสนอราคาให้ผลตอบแทนแก่ภาครัฐ กำหนดราคากลาง 50,000 ล้านบาท ภายใต้ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี หากเอกชนรายใดเสนอราคาผลตอบแทนมากสุดเป็นผู้ชนะการประมูล หากรายแรกเจรจาไม่ได้ผลต้องเชิญเอกชนรายที่ให้ผลตอบแทนอันดับ 2 มาเจรจาเพิ่มเติม แผนการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา จึงสอดคล้องกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
จากแผนมูลค่าลงทุนก่อสร้าง 290,000 ล้านบาท โดยในช่วง 5 ปีแรก ต้องก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารอาคาร 3 ให้แล้วเสร็จ และในช่วง 15 ปีแรก พัฒนาระบบโลจิสติกส์ คาร์โก้ ศูนย์อุตสาหกรรมการบิน จากนั้นจะขยายการสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารทุก 5, 10, 15 ปี เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 30 ล้านคนในช่วง 10 ปี และเพิ่มเป็น 60 ล้านคนในช่วง 15 ปี และขึ้นอยู่กับการประเมินข้อมูลของภาคเอกชนผู้เสนอการประมูล การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ครั้งนี้นับเป็นการใช้ทรัพย์สินที่ดินของรัฐนำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าและสร้างประโยชน์มีรายได้เข้ารัฐมากกว่า 50,000 ล้านบาท เมื่อบวกลบกับการลงทุนสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งในช่วงแรก เท่ากับรัฐบาลได้พัฒนาทั้งรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน และสร้างสนามบินอู่ตะเภาโดยไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มเติม แต่ประเทศได้มาทั้งสนามบินและรถไฟฟ้าความเร็วสูง เพราะการสร้างสนามบิน และสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงต้องควบคุมกันทั้ง 2 โครงการ เมื่อติดตามดูความคืบหน้าทั้งท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ทุกโครงการมีความคืบหน้ามาก เมื่อการพัฒนาเขตอีอีซี มีความพร้อมรองรับทั้งการขนส่งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ นับว่าเป็นเขตเศรษฐกิจรองรับบริการโลจิสติกส์ครบวงจร สมบูรณ์เมื่อเทียบกับมหานครการบินหลายแห่งของโลก.-สำนักข่าวไทย