รัฐสภา 18 ต.ค.-‘พิธา’ ไม่รับร่าง พ.ร.บ. งบ 63 ชำแหละเม็ดเงินแสนล้านรวมศูนย์จัดการน้ำไม่ตอบสนองประชาชน ชี้หากทำแบบเดิม อีก 142 ปี ไทยจึงจะมีน้ำเพียงพอ ด้าน ‘ประยุทธ์’ รัฐตั้งใจ แต่ไม่สามารถแก้ได้ทีเดียว เพราะงบไม่พอ และต้องคำนึงถึงที่ดินประชาชน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำกว่าแสนล้านบาทที่ไม่ตอบสนองกับความต้องการของประชาชน โดยหยิบยก 3 เหตุผลคือ 1. ไทยต้องใช้เวลากว่า 142 ปี รัฐจึงจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศอย่างเท่าเทียม ซึ่งตนเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศจะไม่สามารถได้เห็นวันนี้ นายพิธา ย้ำว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่ติดปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพของการจัดการชลประทาน จากข้อมูล คือไทยมีปริมาณน้ำฝนกว่า 780,000 ล้าน ลบ.ม. แต่จัดการได้เพียง 102,000 ล้าน ลบ.ม. ไม่พอกับความต้องการใช้น้ำ 152,000 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ลองรับน้ำทั้งหมด 320 ล้านไร่ ภาคเกษตร 149 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานเพียง 30 ล้านไร่
2. ในภาวะปกติงบประมาณน้ำสะท้อนความเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ขาดการกระจายอำนาจ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที นายพิธิได้ยกตัวอย่างภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากที่จังหวัดขอนแก่น มีงบประมาณในสัดส่วนของกระทรวง 985 ล้านบาท แต่ในระดับจังหวัดขอนแก่นไม่มีงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเลย ตนจึงตั้งคำถามว่าเหตุใด งบที่ผันไปจึงไม่กระจายสู่พื้นที่ให้หน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนและบริหารพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการงบประมาณ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรกระจายงบประมาณภาคกระทรวงไปสู่ระดับลุ่มน้ำ และท้องถิ่นให้มากขึ้น
3. ในภาวะวิกฤติ งบประมาณในการเยียวยามากกว่าการเตรียมความพร้อมและเตรียมภัยก่อนวิกฤติ นายพิธาชี้แจงว่ารัฐบาลใช้วิธีรักษาไปตามอาการมากกว่าที่จะป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุฉุกเฉิน ต้องรอให้เป็นโรคเสียก่อนแล้วจึงรักษา ซึ่งงบประมาณปี 2563 ที่ไปโตในงบลงทุนและงบอุดหนุนหลังภาวะฉุกเฉินสูงถึง 83,520 ล้านบาท งบดำเนินงาน 12,530 ล้านบาท แต่งบที่จะใช้ในการป้องกันเพียงแค่ 720 ล้านบาท จึงสะท้อนให้เห็นว่างบในการบริหารจัดการน้ำในภาวะฉุกเฉินเน้นเยียวยาหลังเกิดเหตุมากกว่า ซึ่งงบประมาณเยียวยาก็มีความล่าช้า พร้อมยกตัวอย่าง น้ำท่วมซ้ำซากที่จังหวัดอุบลราชธานี หากดูข้อมูลการเตรียมการป้องกันของกรมต่างๆ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในปี 2562 ใช้งบประมาณการแจ้งเตือนกว่า 173 ล้านบาท และในปี 2563 ใช้งบกว่า 426 ล้านบาท มากขึ้นกว่าสองเท่า แต่ตัวชี้วัดกลับอยู่ที่ 80% ทั้งสองปี ตนติดใจ และขอถามไปยังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องว่าเหตุใดใส่เงินเข้าไปเพิ่มขึ้นแต่ผลลัพะ์กลับเท่าเดิม
นายพิธาย้ำอีกครั้งว่า เสื้อตัวเดิม ยาพาราใช้เหมือนกันทุกคนไม่ได้เพราะความหลากหลายทางนโยบายเป็นสิ่งจำเป็น ถึงเวลาที่เราต้องคิดนอกกรอบ มากกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาแบบเดิมๆ ควรนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิด 2 ท. คือ เท่าเทียมและเท่ากัน
ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กบช. ชี้แจงถึงการบริหารจัดการน้ำว่า มีการบูรณาการหลายหน่วยงาน และทำงานในรูปแบบคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะมองด้านใดด้านหนึ่งว่าอุทกภัยหรือภัยแล้งอย่างเดียวไม่ได้ แม้จะมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ แต่ปัญหาคือการบริหารจัดการกักเก็บน้ำอย่างไรไม่ให้น้ำท่วม และมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ
พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำว่า ต้องไม่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งในกรณีจำเป็นเร่งด่วนก็ต้องใช้งบกลางแก้ไขทั้งสิ้น แต่สมาชิกหลายคนกับพยายามอภิปรายเสนอตัดงบกลาง แต่ปัญหาคือไม่มีทางแก้ไขได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากยังมีปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ของประชาชน ทั้งการพัฒนาระบบชลประทานห การจัดทำบ่อกักเก็บน้ำ รวมถึงการระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและตะวันตก เนื่องจากมีอุปสรรคเกี่ยวกับพื้นที่ของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน รวมถึงการแก้ไขปัญหาไม่สามารถทำได้ทีเดียวทั้งหมด เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งเกษตรกร พยายามแก้ไขปัญหา แต่ต้องคำนึงถึงขั้นตอนที่ซับซ้อนด้วย จะเอาแต่หลักวิชาการอย่างเดียวมาแก้ปัญหาคงไม่ได้ ต้องเอาพฤติกรรมและความเป็นคนไทยมาพิจารณา เพื่อแก้ปัญหาแบบบูรณาการ รวมถึงขอให้ ส.ส.ไปพูดคุยกับประชาชนและหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย หากสามารถดำเนินการได้ รัฐบาลก็มีงบประมาณแก้ปัญหาให้ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้ และมีเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้มีพื้นที่ชลประทานมากขึ้นและน้ำจะไม่ท่วม.-สำนักข่าวไทย