ศาลรัฐธรรมนูญ 18 ต.ค.-“ธนาธร” หงุดหงิดระหว่างเบิกความคดีหุ้นสื่อวี-ลัค มีเดีย ยืนยันโอนจริง หลังตัดสินใจเล่นการเมือง ระบุครอบครัวมีเงิน ไม่จำรายละเอียดให้ภรรยาทำแทน ขู่ฟ้องกกต.หลังคสช.หมดอำนาจ ยกตัวไม่เหมือน“ทักษิณ” ตั้งใจทำการเมือง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
ตุลาการรัฐธรรมนูญนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยความเป็นส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากถือหุ้นสื่อบริษัทวี-ลัค มีเดีย เข้าลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ โดยศาลอธิบายถึงการไต่สวนพยานทั้ง 10 ปากว่า ต้องการทราบว่าการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธรให้กับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เกิดขึ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 ตามที่นายธนาธรอ้างเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้หรือไม่ ซึ่งพยานทั้ง 10 ปากเป็นทั้งพยานที่รู้เห็นคือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และพยานที่เกี่ยวข้องคือพยานที่จะไปดำเนินการต่อหลังการโอนหุ้น
นายธนาธร ให้การเป็นพยานปากแรก ซึ่งศาลซักเรื่องการเปลี่ยนชื่อบริษัท การประกอบธุรกิจสื่อของบริษัทวี-ลัค มีเดีย และถ้าจะเลิกบริษัทต้องไปจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานหรือไม่ ซึ่งนายธนาธรชี้แจงว่าโอนหุ้น 675,000 หุ้นให้กับนางสมพรวันที่ 8 มกราคม 2562 โดยก่อนจะชื่อบริษัท วี -ลัค มีเดียเคยใช้ชื่อบริษัทโซอิด ส่วนจะถือว่าบริษัทประกอบกิจการสื่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตีความ แต่ยืนยันว่าไม่เคยเข้าไปบริหารหรือทำธุรกรรมใด ๆ ในบริษัท เป็นเพียงผู้ถือหุ้น และหลังจดทะเบียนตั้งบริษัทแล้ว การดำเนินธุรกิจซึ่งต้องอนุญาตตามพ.ร.บ.การพิมพ์ เป็นเรื่องที่กรรมการบริหารจะจัดการ ตนไม่เคยเข้าไปรู้เห็นเกี่ยวข้อง เพิ่งเข้ามาช่วง 4-5 ปีหลัง
“เนื่องจากหลังแต่งงาน มารดาอยากให้ลูกหลานและสะใภ้มีงานทำ นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยาของผมซึ่งเคยลาออกจากงานธนาคารมาเลี้ยงลูก เมื่อลูกเติบโตขึ้น ทำให้ภรรยาของผมว่างงาน นางสมพรจึงชวนให้เข้ามาบริหารบริษัทวี-ลัคมีเดีย จึงเป็นที่มาของการซื้อหุ้น ส่วนหลังเลิกกิจการวี-ลัคมีเดียแล้วต้องไปจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานการพิมพ์ ผมไม่ทราบหลักการและไม่เคยยุ่งกับกิจการบริษัทนี้” นายธนาธร กล่าว
จากนั้น ศาลซักถามถึงเหตุผลการกำหนดให้วันที่ 8 มกราคม 2562 เป็นวันโอนหุ้นทั้งที่ในวันดังกล่าวมีภารกิจหาเสียงในจ.บุรีรัมย์ นายธนาธร ชี้แจงว่า วันดังกล่าวไม่ใช่วันพิเศษ ครอบครัวตนมีบริษัทจำนวนมาก เมื่อสนใจเข้ามาทำงานการเมือง จึงลาออกจากทุกตำแหน่งในภาคธุรกิจ เริ่มต้นช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 ยืนยันว่าจำไม่ได้ว่า มีตารางนัดลงพื้นที่หาเสียงก่อนหรือนัดเซ็นโอนหุ้นก่อน แต่ตนมีปฏิทินการทำงานว่าช่วงใดจะลงพื้นที่ภาคใด และโดยปกติตนสามารถทำงาน 2 อย่างได้ภายในวันเดียวกัน ตอนทำงานในภาคธุรกิจทำงานหนักกว่านี้
“การเดินทางไปหาเสียงที่จ.บุรีรัมย์แล้วต้องกลับมาเซ็นโอนหุ้นที่กรุงเทพฯ เดิมผมวางแผนจะนั่งเครื่องกลับจากจ.อุบลราชธานี แต่เวลาที่ใช้เดินทางจาก จ.บุรีรัมย์ไปจ.อุบลฯ ต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง เมื่อรวมกับเวลานั่งเครื่องบิน จึงเห็นว่าใช้ ไม่ต่างจากการขับรถกลับบ้านโดยตรง อีกทั้งผมเป็นคนที่หลับง่ายในรถยนต์ เมื่อขึ้นรถแล้วหลับเลย หากต้องขึ้นเครื่องบินจะต้องพบเจอและทักทายผู้คน อาจทำให้ไม่ได้พักผ่อน และไม่เป็นส่วนตัว จึงยอมนั่งรถดีกว่า โดยออกจากจ.บุรีรัมย์เวลา 11.00 น. และนั่งรถยนต์มากับนายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ คนขับรถเพียง 2 คน ไม่มีพยานอื่น ๆ เดินทางกลับมาด้วย และระหว่างเดินทางไม่ได้โทรศัพท์พูดคุยหรือติดต่อกับใครเลย เพราะนัดหมายกับทนายความไว้แล้วเวลา 17.00 น.” นายธนาธร กล่าว
ศาลซักถามถึงเงินที่ได้รับจากการโอนขายหุ้นวี-ลัค มีเดียว่านำเช็คกว่า 6 ล้านบาทไปขึ้นเงินอย่างไร นายธนาธร กล่าวว่า จำไม่ได้ แม้จะเป็นเช็คที่มีมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นเช็คใบไหน เซ็นวันไหน เพราะตนมอบหมายให้ภรรยาเป็นผู้จัดการเรื่องการเงินของครอบครัวทั้งหมด และไม่แน่ใจว่าแม่และภรรยาของตนจะไปส่งมอบเช็คกันอย่างไร จะเข้าบัญชีวันไหน แม้แต่เช็คที่ตนได้รับจากการไปร่วมสัมมนาก็มอบให้ภรรยาจัดการ ตนไม่เคยจับแม้แต่สมุดบัญชี ส่วนประเด็นที่ถูกซักถามว่าเหตุใดโอนขายหุ้นในเดือนมกราคมแล้วเหตุใดจึงนำเช็คไปขึ้นเงินในเดือนพฤษภาคม ตนไม่เคยถามและไม่เคยรู้ อาจเป็นเพราะครอบครัวไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน บางครั้งเช็คก็ติดเสื้อส่งไปซักแห้งก็ส่งกลับมา เรื่องการนำเช็คไปขึ้นเงินช้า เป็นเรื่องที่ภรรยาจะไปจัดการ
ต่อมาศาลซักถามว่า ขณะที่ได้รับหุ้นวีลัค-มีเดีย 675,000 หุ้นในปี 2551 ซื้อมาหรือได้มาโดยเสน่หา นายธนาธร กล่าวว่า ตนซื้อมาในราคาพาร์ แต่จำไม่ได้ว่าซื้อจากใคร อาจะเป็นการซื้อหุ้นจากนางสมพร และจำไม่ได้ว่าหลังซื้อหุ้นมาแล้วได้ไปจดแจ้งไปที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือไม่ ส่วนการนัดโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 นั้น มีการนัดหมายล่วงหน้านานเท่าไร ตนจำไม่ได้ โดยเมื่อตัดสินใจเข้าทำงานทางการเมืองในช่วงปลายปี 2560 ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งต้นปี 2561
“ในเดือน ม.ค.62 ยังไม่มีใครรู้ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นวันไหน โดยพ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ ประกาศในช่วงปลายเดือนมกราคม เวลาที่เหมาะสมวันไหน เราก็นัดวันนั้น เนื่องจากครอบครัวของผมมีกิจการหลายบริษัท ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2562 ได้ทยอยก็ทำมาเรื่อย ๆ วันที่ 8 ม.ค.62 จึงไม่ใช่วันสำคัญอะไร เพราะทำมาอย่างต่อเนื่อง ธุรกรรมสุดท้ายคือเดือนเม.ย. ผมไม่ได้โอนเฉพาะหุ้นวี-ลัค มีเดีย เพราะมีหุ้นอยู่ 30 บริษัท ผมทำธุรกิจมา 20 ปี ซื้อขายหุ้นไทยและต่างชาติเป็นร้อย ๆ ครั้ง ไม่มีครั้งใดที่ผมไปกระทรวงพาณิชย์ด้วยตัวเอง เมื่อเซ็นจบคือจบ ที่เหลือเป็นเรื่องของธุรการของบริษัท สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นหลังเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น ผมก็ไม่เคยดูเพราะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ธุรการ ผมไม่เคยแม้แต่ถือกลับบ้าน” นายธนาธร กล่าว
จากนั้นฝ่ายกกต.ผู้ร้องได้ซักถามถึงนางลาวัลย์ จันทร์เกษมและนางกานต์ฐิตา อ่วมขำ ซึ่งร่วมเป็นพยานในเอกสารโอนหุ้น นายธนาธร กล่าวว่า ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของ บ.วีลัค-มีเดีย เพราะตกลงกับภรรยาว่าชีวิตครอบครัวกับหน้าที่การงานไม่ควรยุ่งเกี่ยวกัน สามีภรรยาที่ทำงานด้วยกันทะเลาะกันจะมีปัญหาครอบครัว ดังนั้นคนที่บริษัทไทยซัมมิทจะไม่เคยเห็นภรรยาของตนเข้าไปบริหาร เช่นเดียวกับพนักงานบริษัทวีลัค-มีเดียจะไม่เคยเห็นตนเข้าไปบริหาร
“แม้จะหารือกับผู้ถือหุ้นเตรียมเลิกกิจการและเตรียมเลิกจ้างพนักงานวีลัค-มีเดีย แต่ยังทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์ผลิตนิตยสารจิ๊บจิ๊บกับสายการบินนกแอร์ เนื่องจากเป็นสัญญาจ้างผลิตที่ทำกันไว้ล่วงหน้า ส่วนประเด็นที่กิจการขาดทุนมีหนี้ค้างชำระ 10 ล้านบาท แต่ยังมีการโอนขายหุ้นไปมานั้น ตนไม่ทราบ และไม่เคยยุ่งเกี่ยว ภารกิจจบไปตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.62” นายธนาธร ชี้แจง
เมื่อถูกซักถามว่าเหตุใดจึงไม่อ้างนายชัยสิทธิ์ กล้ากาญ คนขับรถเป็นพยานบุคคล ในชั้นการชี้แจงกับกกต. นายธนาธร กล่าวว่า ไม่ทราบจะตอบคำถามนี้อย่างไร ประเด็นจากจ.บุรีรัมย์มากรุงเทพฯ เกิดขึ้นเพราะผมตอบคำถามนักข่าวผิดเพียงครั้งเดียว จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต เรามีทั้งใบสั่งและอีซีพาส เวลาสัมพันธ์กันหมดทุกช่วงเวลา แต่คนที่จะจัดการว่าใครควรเป็นพยาน คือทนายความ และว่า “41 ปีในชีวิตผม นี่เป็นครั้งแรกที่เข้ามานั่งหน้าบัลลังก์ ที่ผ่านมาผมไม่เคยมีคดีเลย”
เมื่อถูกถามย้ำถึงการจดแจ้งเลิกกิจการบ.วี-ลัค มีเดีย อย่างเป็นทางการ” นายธนาธร กล่าวอย่างมีอารมณ์อีกครั้งว่า จะต้องให้ตอบอีกกี่ครั้งว่าจำไม่ได้
ต่อมาทนายความของนายธนาธรได้ซักถามเพื่อให้นายธนาธร ชี้ให้ศาลเห็นว่ากระบวนการไต่สวนของกกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร นายธนาธรกล่าวว่า กกต.มีเอกสารเรียกตนและนางสมพรไปให้ถ้อยคำตอนเช้า แต่หนังสือเรียกส่งมาถึงบ้านในช่วงบ่าย ตนไม่มีไทม์แมชชีน ถ้ากระบวนการสอบสวนไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น ศาลก็ไม่ควรพิจารณาคดีนี้ และอยากให้ศาลพิจารณาว่าขณะที่กกต.ยื่นคำร้องต่อศาล อนุกรรมการไต่สวนของกกต.ยังสอบสวนไม่เสร็จ สิทธิของตนในเรื่องนี้ควรได้รับการพิทักษ์
“ผมขอสงวนสิทธิ ถ้าคสช.หมดอำนาจ ผมจะดำเนินคดีกกต. ผมตั้งใจอย่างจริงจังที่จะทำงานการเมืองโดยไม่อยากให้มีเรื่อผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างที่นายทักษิณ ชินวัตรโดนมาก่อน ต้องการให้บ้านเป็นประชาธิปไตย หากศาลตัดสินเป็นคุณกับผม ผมจะออกไปทำเรื่องบายทรัสต์ทันที เพราะต้องการใช้มาตรฐานนักการเมืองตะวันตกในการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน ผมไม่ต้องเข้ามาเพราะเพื่อมีผลประโยชน์หรือบริวารห้อมล้อมเหมือนนายทักษิณ เพราะผมอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ ซึ่งถ้ายังอยู่แบบนี้ก็จะเดินต่อไปไม่ได้”นายธนาธร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการไต่สวนนายธนาธรได้แสดงอาการหงุดหงิดหลายครั้ง ทั้งเรื่องที่ศาลซักว่าทำไมไม่รู้จำนวน เงินค่าตอบแทนหุ้นทำไมไม่ทราบว่าภรรยานำเช็คไปขึ้นเงินเมื่อไหร่ และก่อนไปจ.บุรีรัมย์อยู่ที่ไหน และที่นายธนาธรแสดงอารมณ์มากที่สุดคือเมื่อเจ้าหน้าที่กกต.สอบถามว่าทำไมให้นางลาวัลย์และนางกานต์ฐิตามาเซ็นเป็น พยานในการโอนหุ้น ซึ่งนายธนาธรย้อนถามว่า “แล้วจะให้ผมชวนคุณมาเป็นพยานหรือ ผมรู้จักคุณหรือ รวมทั้งกรณีเจ้าหน้าที่กกต.ถามว่าทำไมไม่อ้างนายชัยสิทธิ์ คนขับรถเป็นพยานตั้งแต่ในชั้นการชี้แจงกับกกต. ซึ่งศาลได้แสดงความเห็นด้วย โดยระบุว่าเป็นพยานสำคัญที่จะยืนยันว่าในวันดังกล่าวนายธนาธรอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ จะเพิ่มน้ำหนักคำให้การมากขึ้นเหมือนกับตุลาการถูกกล่าวหาว่ายิงคนตายแล้ว เวลานั้นมีประธานศาลรัฐธรรมนูญอยู่ด้วยก็สามารถตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญช่วยยืนยันได้.-สำนักข่าวไทย