กรุงเทพฯ 15 ก.ย. – อธิบดีกรมชลประทานขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสถานการณ์น้ำอุบลฯ พบว่ายังมีพื้นที่มากพอจะติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ระดมจากทั่วประเทศเพิ่มอีก 100 เครื่อง ชี้น้ำอาจแห้งก่อนสิ้นเดือน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยทุกจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือยิ่งน้ำท่วมนานประชาชนยิ่งทุกข์ จึงสั่งการให้อธิบดีกรมชลประทานไปบัญชาการศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) ที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วยตนเอง โดยดำเนินทุกมาตรการทั้งการจัดการจราจรน้ำ เพื่อให้น้ำจากแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลตอนบนไม่ไหลมาบรรจบกันที่แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานีพร้อมกัน แล้วช่วงชิงจังหวะระดับน้ำโขงต่ำกว่าน้ำมูลเร่งผลักดันน้ำออกไปให้เร็วที่สุด ย้ำว่าต้องคลี่คลายภาวะอุทกภัยให้ได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ให้ใช้ศูนย์ฯ ส่วนหน้าเป็นศูนย์กลางให้เจ้าหน้าที่ของกรมต่าง ๆ บูรณาการเป็นคณะทำงานช่วยเหลือเกษตรกรให้กลับมาดำรงชีวิตตามปกติ รวมถึงการซ่อมแซมรถไถ รถแทรกเตอร์ รถอีแต๋น และเครื่องจักรกลทางการเกษตรต่าง ๆ ตลอดจนเข้าสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตรทันทีที่น้ำลดเพื่อเร่งจ่ายค่าชดเชยและสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ให้ผู้ประสบภัยกลับมาประกอบอาชีพเกษตรได้เร็วที่สุด
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ติดตามการทำงานของเครื่องผลักดันน้ำพบว่า สามารถเพิ่มอัตราการไหลได้ร้อยละ 30 ขณะนี้บริเวณแก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหารเดินเครื่องแล้ว 60 เครื่อง ส่วนอำเภอโขงเจียมแม่น้ำมูลจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงตามแผนนั้นจะติดตั้ง 100 เครื่อง เดินเครื่องแล้ว 60 เครื่อง อีก 40 เครื่องกำลังเร่งติดตั้ง ขณะนี้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้วันละ 500 ล้าน ลบ.ม. แต่จากการขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจด้านท้ายน้ำมูลอำเภอโขงเจียมพบว่าในลำน้ำยังมีพื้นที่ให้ติดตั้งเพิ่มได้ อีกทั้งระดับแม่น้ำโขงต่ำกว่าหน้าเขื่อนปากมูลถึง 2.07 เมตรลดลงจากเมื่อวานนี้ ซึ่งอยู่ที่ 1.88 เมตร จึงสามารถเพิ่มอัตราการระบายน้ำได้ ทั้งนี้ หากเดินเครื่องผลักดันน้ำได้ 260 เครื่องตามแผนจะผลักดันน้ำออกไปได้มาก
“กรมชลประทานรีดน้ำแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงตั้งแต่ก่อนน้ำท่วม เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำปริมาตรมากที่จะไหลมา ขณะนี้กำลังช่วงชิงจังหวะระดับแม่น้ำโขงต่ำกว่าแม่น้ำมูลผลักดันน้ำออกให้มากที่สุด ในอีก 4-5 วันหลายชุมชนในลุ่มน้ำชี-มูลน้ำจะแห้ง ประชาชนจะเริ่มกลับไปพักอาศัยที่บ้านเรือนของตนเองได้ เจ้าหน้าที่ชลประทานทำงานเต็มที่และต้องสับเปลี่ยนสรรพกำลังกัน เพื่อให้บริหารจัดการน้ำทุกจุดเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น จากที่กำหนดไว้เดิมว่าจะทำให้อุทกภัยคลี่คลายประมาณสิ้นเดือนนี้อาจทำได้เร็วขึ้น” นายทองเปลว กล่าว
ปัจจุบันปริมาตรน้ำแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ M 7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานีอยู่ที่ 5,130 ลดลงจากเมื่อวานนี้ (14 ก.ย.) ซึ่งอยู่ที่ 5,260 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนระดับน้ำสูง 10.88 เมตรลดลงจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 10.93 เมตร ลดลง 5 เซนติเมตร ทั้งนี้ ระดับน้ำยังสูงกว่าตลิ่งฝั่งอำเภอวารินชำราบอยู่ 3.88 เมตร อีก 10 -12 วันน้ำที่ท่วมพื้นที่ต่าง ๆ จะลดลงจนอยู่ในลำน้ำ ส่วนน้ำที่ขังอยู่ในที่ลุ่มต่ำนั้นจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำสูบออก แต่กำลังประสานท้องถิ่นว่ามีพื้นที่ใดสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ โดยอาจใช้ที่สาธารณะทำเป็นแก้มลิง เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำไว้ใช้เพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ระดับน้ำปีนี้สูงมากกว่าปี 2545 อยู่ 20 เซนติเมตร ทางอุทกวิทยาถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี จึงเป็นเหตุผลที่รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งการให้ตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ใกล้ชิดและสั่งการให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด เรียกว่า “อุบลราชธานีโมเดล” ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาอุทกภัยในอนาคต โดยเฉพาะภาคใต้ซึ่งจะเข้าสู่ฤดูฝนกลางเดือนตุลาคมนี้.-สำนักข่าวไทย