กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – หลังนักศึกษาปี 4 วาดภาพพระพุทธรูปอุลตร้าแมน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมว่า เข้าข่ายหมิ่นพระพุทธศาสนาหรือไม่ วันนี้จะพาไปดูที่มาของ “อุลตร้าแมน” ซึ่งพบว่ามีต้นแบบมาจากพระพุทธรูปในยุคสุโขทัย
พิพิธภัณฑ์ของอาจารย์สมโพธิ แสงเดือนฉาย ผู้ออกแบบและเจ้าของลิขสิทธิ์อุลตร้าแมน ซึ่งมีต้นแบบมาจากพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีการจัดแสดงอุลตร้าแมนมากถึง 1 ล้านตัว ในคาแร็กเตอร์ต่างๆ โดยเฉพาะ 7 คาแร็กเตอร์ที่อาจารย์เป็นผู้ออกแบบ และศาลญี่ปุ่นตัดสินให้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ทั้งอุลตร้าแมน, อุลตร้าแมนโซฟี่, อุลตร้าเซเว่น, อุลตร้าแมนแจ็ค, อุลตร้าแมนเอ, อุลตร้าแมนทาโร่ และเจ้าแม่อุลตร้า รวมสัตว์ประหลาดอีกกว่า 350 ตัว
“อุลตร้าแมน” ฮีโร่ผู้ปราบอธรรม ยอดมนุษย์ที่โด่งดังไปทั่วโลก จากท่าไม้ตายพิฆาตเหล่าร้ายด้วยการปล่อยแสง เกิดขึ้นจากฝีมือของอาจารย์สมโพธิ ขณะได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ด้านการทำสเปเชียลเอฟเฟกต์ กับอาจารย์เอยิ ซึบูราญ่า ผู้ก่อตั้งบริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่น ระหว่างนั้นได้เสนอไอเดียการสร้างฮีโร่ ตัวเอกที่เป็นมนุษย์ มาปราบคิงคองและก็อดซิลล่า ในรูปแบบภาพยนตร์ทีวี ซึ่งมีต้นแบบมาจากพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย คือ พระอัฏฐารส ปางปิดโลก พระปางลีลา และพระปางห้ามญาติ ก่อนออกมาเป็น “อุลตร้าแมน” ยอดมนุษย์ขวัญใจเด็กๆ ตัวแรกในญี่ปุ่น เมื่อปี 2508
ด้วยการซึมซับธรรมะมาตั้งแต่วัยเยาว์ ในฐานะเด็กวัด แนวคิดในการสร้างฮีโร่ จึงต้องเป็นยอดมนุษย์ ผู้ใช้ธรรมะปราบอธรรม ซึ่งยอดแห่งมนุษย์ที่ใช้ธรรมะปราบอธรรมมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ก็คือ “พระพุทธเจ้า” เขาจึงเลือกสัญลักษณ์บางอย่างที่สื่อถึงพระพุทธองค์มาใส่ไว้ในคาแร็กเตอร์อุลตร้าแมน เช่น ใบหน้าเรียวมน ปากยิ้ม ตาเรียวคล้ายตาพระพุทธรูป รูปร่างเพรียว และมีดวงไฟอยู่กลางอก รวมถึงท่าปล่อยแสง เปรียบดั่งพลังแห่งความดีที่ใช้ปราบสัตว์ประหลาด ตัวแทนของเหล่ามาร
อาจารย์สมโพธิ ย้ำว่า ไม่ได้นำพระพุทธรูปมาล้อเล่น เพียงแต่นำคาแร็กเตอร์ของท่านมาเป็นต้นแบบ และโครงเรื่องทั้งหมดก็เกี่ยวกับธรรมะชนะอธรรม ซึ่งในช่วงแรกก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่ค่อยเห็นด้วยเช่นกัน จึงขอให้กำลังใจเด็กรุ่นใหม่ รวมถึงน้องนักศึกษาปี 4 ผู้วาดภาพ “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบผลงานศิลปะที่ยึดโยงกับธรรมะให้ดูร่วมสมัย และเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย. – สำนักข่าวไทย