กรุงเทพฯ 3 ก.ย. – ธ.ก.ส.เตรียมพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยจากพายุโพดุล ทั้งกรณีฉุกเฉิน ฟื้นฟูหลังประสบภัย พร้อมขยายเวลาชำระหนี้
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติจากพายุโพดุล ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มและลมกระโชกแรง ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับการเกษตร ตลอดจนทรัพย์สินที่อยู่อาศัยของลูกค้าและประชาชนทั่วไปนั้น ธ.ก.ส.มีความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้ประสบภัย จึงได้กำหนดแนวทางพร้อมกำชับให้ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ได้มอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกค้า โดยนำเงินจากกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติของ ธ.ก.ส. ไปจัดหาถุงยังชีพเพื่อนำไปมอบให้เกษตรกรลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน เบื้องต้นส่งถุงยังชีพช่วยเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร นครพนม ไปแล้วกว่า 20,000 ถุง และเข้าไปสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่าง ๆ เช่น จัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าเรือ ค่าเช่ารถบรรทุก ค่าแรงงาน เป็นต้น และหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลงจะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูหลังประสบภัย เช่น การมอบเงินเพื่อสมทบทุนสร้างบ้านหลังใหม่ การซ่อมแซมทรัพย์สินของใช้จำเป็น การซ่อมแซมเครื่องจักรการเกษตร และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวเนื่องในการให้ความช่วยเหลือกรณีฟื้นฟูหลังประสบภัย
สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินบรรเทาความเดือดร้อนจำเป็นในครัวเรือนและป้องกันการก่อหนี้นอกระบบไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะ 6 เดือนแรก และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติตามความจำเป็นแต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรหรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ดังนั้น หากเกษตรกรผู้ประสบความเดือดร้อนสามารถติดต่อ ธ.ก.ส.ในพื้นที่เพื่อขอรับการช่วยเหลือได้ทันทีหรือที่ Call Center 02-5550555
“เกษตรกรที่มีภาระหนี้สินกับ ธ.ก.ส. ขออย่ากังวลใจ ธ.ก.ส.พร้อมเข้าไปดูแลตามมาตรการการช่วยเหลือที่กำหนดไว้ รวมถึงพร้อมที่จะดำเนินการอื่น ๆ ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป” นายอภิรมย์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย