ระยอง 30 ส.ค.- วันนี้จะพาไปชมตัวอย่างโรงงานที่ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ที่เน้นผลิตสินค้าและวัสดุภัณฑ์ต่างๆ อย่าง “ถนอม” ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หวังแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน” ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเลกว่าร้อยละ 50
พื้นที่ 6 ไร่ เหนือผืนน้ำ ภายในบริษัท เอสซีจี เคมีคอลส์ จ.ระยอง แห่งนี้คือโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแห่งแรกของไทย ที่เป็นการต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยการนำเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษมาออกแบบ และพัฒนาเป็นทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์ ซึ่งใช้พื้นที่น้อยเพียงร้อยละ 10 ของการติดตั้งปกติ โดยทุ่นลอยน้ำนี้มีอายุการใช้งานมากกว่า 25 ปี ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไร้สารพิษปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ
ส่วนนี่คือโครงการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ของ อบจ.ระยอง ที่ร่วมกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ของกลุ่ม ปตท. เพื่อดำเนินการแปลงขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง โดยขยะสดจะนำไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงแห้ง RDF ใช้ในกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้า ส่วนขยะอินทรีย์ จะนำไปแปลงเป็นสารปรับปรุงดิน
ทั้ง 2 ตัวอย่าง คือ โรงงานที่ดำเนินงานภายใต้แนวคิด Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เร่งผลักดัน โดยร่วมกับองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสถาบันพลาสติกภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมจัดตั้ง “โครงการร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาขยะและพลาสติกอย่างยั่งยืน” เปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลับมาเป็นทรัพยากร และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเลไทยกว่า 50%
นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังมีแนวคิดฟื้นโครงการตาวิเศษ เพื่อเป็นเครื่องมือสอดส่องดูแลการทิ้งขยะทางทะเล พร้อมชงมาตรการลงโทษสถานหนัก เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม.-สำนักข่าวไทย